โลกจะต้องรวมตัวกันเพื่อยับยั้งวิกฤติเร่งด่วนในมหาสมุทรของเรา
มหาสมุทรกำลังเผชิญกับวิกฤติหลายมิติซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์
โลกจะต้องรวมตัวกันเพื่อยับยั้งวิกฤติเร่งด่วนในมหาสมุทรของเรา 29 พฤษภาคม 2563 Tetsuji Ida นักเขียนอาวุโสและนักเขียนบรรณาธิการข่าว Kyodo · มหาสมุทรกำลังถูกคุกคามมากขึ้นจากปัจจัยหลายประการ · ต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและวิธีการตอบสนองของชุมชนระหว่างประเทศเพื่อที่จะจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้ · การตอบสนองนี้จะต้องขึ้นอยู่กับวิทยาศาสตร์ ความร่วมมือ และการสร้างความตระหนัก มหาสมุทรกำลังเผชิญกับวิกฤติหลายมิติซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ การจับปลามากเกินขนาด มลพิษจากพลาสติก และการทำให้มหาสมุทรเป็นกรด พวกเราจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในการปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเล วิกฤติของมหาสมุทรเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ การปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเลเป็นเรื่องด่วนสำหรับประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน แต่นโยบายในเรื่องดังกล่าวนั้นกระจัดกระจายและล่าช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศอื่น ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนพื้นฐานใน การกำหนดนโยบายและมีความพยายามมากขึ้นที่จะทำให้สภาพแวดล้อมทางทะเลมีความยั่งยืนเช่นเดียวกับการมีส่วนร่วมในเชิงบวกกับประชาคมระหว่างประเทศ ในฐานะที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับทะเลมาก ทั้งการบริโภคและพึ่งพาระบบนิเวศ ทางทะเลจึงเป็นความรับผิดชอบในระดับนานาชาติของประเทศญี่ปุ่นในการระงับวิกฤติของมหาสมุทร เมื่อปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2562) คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้รวบรวมรายงานพิเศษว่าด้วยมหาสมุทรและส่วนของโลกที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง (Cryosphere) ในภาวะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งรายงานพิเศษแสดงให้พวกเราเห็นภาพที่ชัดเจนของสภาพของมหาสมุทรในปัจจุบันและอนาคตที่น่ากลัว มหาสมุทรช่วยให้สภาพอากาศมีความสมดุลโดยดูดซับความร้อนส่วนเกินร้อยละ 90 ที่เก็บไว้ในระบบภูมิอากาศโลกเนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลก็คือ อุณหภูมิพื้นผิวของทะเลเพิ่มสูงขึ้นและอุณหภูมิของน้ำทะเลยังคงสูงผิดปกติเป็นเวลานาน บางครั้งกินเวลานานกว่าหนึ่งปี จึงส่งผลให้เกิด “คลื่นความร้อนในมหาสมุทร” มหาสมุทรดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 20 - 30 ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ผลคือ มหาสมุทรนั้นถูกทำให้เป็นกรด มีความกังวลว่าการเพิ่มขึ้นของความเป็นกรดของน้ำทะเลนี้จะมีผล กระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตที่สำคัญจำนวนมากในห่วงโซ่อาหารทางทะเล รวมถึงแพลงก์ตอน และสัตว์ทะเลมีเปลือกที่เป็นสารจำพวกแคลเซียมคาร์บอเนต หอยและเม่นทะเล การที่ผิวน้ำทะเลมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นนั้นทำให้เกิดการแบ่งตัวระหว่างชั้นพื้นผิวน้ำทะเลและชั้นน้ำทะเลส่วนกลาง (sub-medium seawater) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระจายไปในมหาสมุทรทุกภูมิภาคทั่วโลก และส่งผลให้ความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจนต่ำมากจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ พวกเราต้องเข้าใจว่ากิจกรรมของมนุษย์นั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ สภาพความเป็นกรดของน้ำ ทะเลและเปลี่ยนแปลงการกระจายของก๊าซออกซิเจนในมหาสมุทรโลก 1.4 พันล้านลูกบาศก์กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ของมหาสมุทรยังมีมากกว่านั้น การจับปลาที่มากเกินไปกำลังเป็นปัญหาร้ายแรง และหากแนวโน้มในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไปร่วมกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ก็จะมีผลกระทบเชิงลบที่สำคัญ ต่อความมั่นคงทางอาหารของหลายประเทศ การทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) การเพิกเฉยต่อกฎระเบียบและข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในการประมงของโลก ตามรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) การทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) คิดเป็นปริมาณปลา 26 ล้านตันต่อปี ซึ่งร้อยละ 30 ของปริมาณปลารายปีที่จับโดย วิธีผิดกฎหมายนี้คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งเม็ดเงินจำนวนนี้ถือเป็นภาระหนักมากสำหรับชาวประมงส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนา มลพิษจากพลาสติกเป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่กำลังน่าเป็นห่วง มีการคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2593 ปริมาณขยะพลาสติกในมหาสมุทรจะมีน้ำหนักมากกว่าปริมาณปลาทั้งหมด ยังทำได้ไม่ดีพอ ถึงแม้ว่านานาชาติได้เพิ่มความพยายามในการป้องกันวิกฤตการณ์ของมหาสมุทรหลายมิติอย่างเร่งด่วนจนถึงปัจจุบัน แต่ทว่าความพยายามดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหา การประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 25 (COP25) ภายใต้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในราชอาณาจักรสเปน ซึ่งมีวาระ การประชุมที่สำคัญ คือ “Blue COP” ตามคำร้องขอของรัฐบาลสาธารณรัฐชิลีซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพ เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมหาสมุทร อย่างไรก็ตาม ปัญหาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลนั้นยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเท่าที่ควร การเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของ “ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ (BBNJ)” ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ที่กำลังจะสิ้นสุดลง ทว่าผลประโยชน์ของแต่ละประเทศนั้นมีความซับซ้อนและยังไม่สามารถหาข้อสรุปเชิงบวก ได้ในเวลาเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ การเจรจาได้ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 มีการจัดตั้งองค์กรการจัดการการประมงระดับภูมิภาค (RFMO) ขึ้นเพื่อดูแลสายพันธ์ุปลาที่ใกล้สูญพันธุ์อย่าง ยั่งยืน เช่น ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน ถึงแม้คนบางกลุ่มมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากร แต่คนอีกกลุ่มก็ไม่ให้ความร่วมมือ ความพยายามในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและสัตว์สายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ ภายใต้สนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อนุสัญญาวอชิงตันและอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ก็มีข้อจำกัดมากเช่นกัน แม้ว่าการปนเปื้อนพลาสติกในทะเลนั้นจะได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็น่าเศร้าที่ยังไม่มีกรอบแนวคิดสากลในการส่งเสริมมาตรการเพื่อลดมลภาวะดังกล่าวทางทะเล “วิสัยทัศน์มหาสมุทร สีคราม” (The Blue Ocean Vision) ซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้นำเสนอในการประชุม G20 ในนครโอซากาเมื่อ พ.ศ. 2562 ก็มีมาตรการเพื่อลดขยะพลาสติกที่เป็นรูปธรรมน้อยมาก การเริ่มเจรจาพูดคุย การเจรจาหารือเกี่ยวกับ “ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ (BBNJ)” เป็นจุดเริ่มต้น ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นจะต้องสร้างเวทีสำหรับการเจรจาและกระบวนการตัดสินใจที่ครอบคลุมเกี่ยวกับระบบการอนุรักษ์และการใช้สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างมีความยั่งยืน เวทีฯ จะต้องครอบคลุม ทุกอย่างตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการทรัพยากรประมง จนถึงขยะพลาสติก โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม รวมถึงภาค อุตสาหกรรมและภาคประชาสังคม วิกฤติในมหาสมุทรเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นตระหนักว่า ตัวเองเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพิงทะเลแต่ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีบทบาทมากในความพยายาม ระหว่างประเทศเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ประเทศญี่ปุ่นมักมีท่าทีที่ตรงกันข้ามในการปกป้องชีวิตสัตว์ ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ภายใต้อนุสัญญาวอชิงตัน และการไม่ยอมรับกฎระเบียบระหว่างประเทศสำหรับสัตว์ทะเล หลายชนิด สำนักงานการประมงของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเข้าร่วมการประชุมองค์กรการจัดการการประมงระดับ ภูมิภาค (RFMO) มักจะทำอะไรอยู่บนพื้นฐานในฐานะตัวแทนของชาวประมงในประเทศญี่ปุ่น และไม่ยอมรับ กฎระเบียบที่เข้มงวดเสมอ เจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมในการเจรจาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่ นอกเขตอำนาจรัฐ (BBNJ) ก็ไม่ใช่บุคลากรในระดับสูง และนักการเมืองไม่ให้ความสนใจ รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังลังเลที่จะจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในพื้นที่ทะเลหลวง ที่สมัชชาสหประชาชาติเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 องค์การสหประชาชาติตัดสินใจที่จะกำหนดให้ปี พ.ศ. 2564 - 2573 เป็นทศวรรษของวิทยาศาสตร์ทางทะเลของสหประชาชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อ เสริมความแข็งแกร่งทางวิทยาศาสตร์สำหรับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของมหาสมุทร นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลของญี่ปุ่นหลายคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและคาดว่าจะมีส่วนร่วมในอนาคต สถาบันวิจัยหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นมีเครื่องมือวิจัยขั้นสูงเกี่ยวกับมหาสมุทรรวมถึงข้อมูลการสังเกตระยะยาวเกี่ยวกับกาเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ การเป็นกรดและอื่น ๆ นักวิทยาศาสตร์ได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้กำหนดนโยบาย ในทางตรงกันข้ามเงินทุนวิจัยทางทะเลก็ลดลงอย่างมาก เพื่อสนับสนุนการวิจัยและการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศให้มีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลญี่ปุ่น พร้อมกับประเทศอื่น ๆ ที่มีความคิดคล้ายกันจะต้องส่งเสริมการพัฒนานโยบายด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงเพิ่ม การลงทุนด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญที่สุด พลเมืองญี่ปุ่นควรมีความเข้าใจและมุมมองที่ชัดเจน เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางทะเลที่กำลังแย่ลง พลเมืองญี่ปุ่นควรแสดงให้เห็นถึงความตระหนักและการเรียกร้อง ให้มีมาตรการที่มีความเข้มแข็งขึ้น