ธุรกิจการบินเวียดนาม เจอผลกระทบ 'โควิด-19'
สำนักงานการบินพลเรือนของเวียดนาม (ซีเอเอวี) ระบุว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของเวียดนาม
ธุรกิจการบินเวียดนาม เจอผลกระทบ 'โควิด-19' แม้เวียดนามไม่ได้เป็นจุด “ฮอตสปอต” การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของไวรัสชนิดนี้ ก็ทำให้สายการบินของเวียดนามสูญรายได้ไปแล้วประมาณ 10 ล้านล้านด่อง (430 ล้านดอลลาร์) หลังการเดินทางระหว่างเวียดนามและจีนถูกระงับ สำนักงานการบินพลเรือนของเวียดนาม (ซีเอเอวี) ระบุว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของเวียดนาม เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. และซีเอเอวี ได้สั่งระงับทุกเที่ยวบินที่เดินทางไปและกลับจากจีน ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารประมาณ 400,000 คนต่อเดือน และทำให้จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศโดยรวมลดลง 14.1% ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ สายการบินเวียดนาม สายการบินเวียดเจ็ท และสายการบินเจ็ทสตาร์แปซิฟิก ให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างเวียดนามและจีนรวม 72 เส้นทาง “เที่ยวบินทั้งไปและกลับจากจีนจะกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งหลังได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี” ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนของเวียดนาม ระบุ ในส่วนของสถานการณ์แพร่ระบาดในเวียดนามนั้น ที่ผ่านมามีรายงานยืนยันยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเวียดนามจำนวน 16 คนแต่ล่าสุด ทางการเวียดนามรายงานเมื่อวันอังคาร (25 ก.พ.) ว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั้ง 16 คนในประเทศ ได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีสำหรับประเทศที่ต่อสู้กับโรคระบาดนี้ กระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม แถลงว่า เจ้าหน้าที่ไม่พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. เป็นต้นมา ส่วนจำนวนผู้ป่วยสะสมในประเทศจนถึงขณะนี้ ซึ่งมีอยู่ 16 คน รวมถึงทารกอายุ 3 เดือน ต่างได้รับการรักษาจนหายดี และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้เกือบหมดแล้ว ผู้ติดเชื้อ ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เหลือเพียงผู้ป่วยคนที่ 16 เป็นชายอายุประมาณ 50 ปี ติดเชื้อจากบุตรสาวซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากเมืองอู่ฮั่น ตอนกลางของจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโรคแต่ตอนนี้ผู้ป่วยรายนี้มีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ และคาดว่าคณะแพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ในเร็ว ๆ นี้ ถึงแม้ธุรกิจการบินเวียดนามจะเจอศึกหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่บรรดานักวิเคราะห์ของสถาบันชั้นนำและธนาคารหลายแห่งยังคงคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะยังสามารถเดินหน้าเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากบรรยากาศทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่ยังขาดความแน่นอนและยากจะคาดเดาได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใดโดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า เวียดนามน่าจะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในระดับ 7% ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว “หยุน หลิว” นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเอชเอสบีซี มีความเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในเวียดนามแตกต่างจากเพื่อนบ้านที่กำลังประสบปัญหาการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิต และส่วนนี้กลายเป็นกำลังสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพีของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 30% ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวโตต่อเนื่อง