นางสาวพรทิพย์ พรชีวทิพย์ ผู้อำนวยการส่วนแผนงานและส่งเสริมศักยภาพของเมืองได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศให้การต้อนรับผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ประกอบด้วย นายเอกสิทธิ์ จุลกิตติพันธ์ นางสาวดลรวี อัครคุปต์ และนายพิสิทธิ์ ชัยวัฒนไชย ทูตพาณิชย์แห่งสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยในโอกาสเข้าพบกับผู้แทนจากสำนักต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) นำโดยนางสุทธิมล เกษสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมและประสานการขนส่ง กองการขนส่ง และ นางเครือฟ้า บุญดวง หัวหน้าศูนย์สารสนเทศจราจร กองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลของการจัดงาน Canada – Thailand เทคโนโลยีแคนาดาสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย หรือ Smart City Mission ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2561 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ
นายเอกสิทธิ์ฯให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดงานดังกล่าวว่า เนื่องจากประเทศแคนาดามีประสบการณ์ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเป็นที่ยอมรับ โดยประเทศแคนาดาเคยได้รับรางวัล Smart Cityระดับโลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 (เมืองโตรอนโต) และปี ค.ศ.2016 (เมืองมอนทรีออล) จุดแข็งของประเทศแคนาดา คือ ความสามารถในการคิดค้นซอฟต์แวร์และการสร้างการเชื่อมโยงระบบเพื่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งประเด็นสำคัญคือต้องทราบความต้องการของประชาชนว่าต้องการให้เมืองมีความเป็นอัจฉริยะด้านใด
ในการจัดงานครั้งนี้ จึงมุ่งนำเสนอเทคโนโลยีด้านเมืองอัจฉริยะของบริษัทต่าง ๆ ในประเทศแคนาดาที่มีความเชี่ยวชาญ โดยครอบคลุมถึงโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure), พลังงานสะอาด (Clean Technology), ICT และการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (English Education) ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยได้หารือกับภาครัฐและภาคเอกชนพบว่า มีสามจังหวัดใหญ่ของประเทศไทยที่ความพร้อมจะผลักดันโครงการส่งเสริมการสร้างเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดขอนแก่น
ด้านนางสุทธิมล เกษสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า การสนับสนุน การใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะของบริษัทต่าง ๆ ของประเทศแคนาดาจะสามารถดำเนินการได้ หากมีกระบวนการ G to G หรือ Grant Aid หรือ Cost Sharing ที่ทางสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยสนับสนุนในรูปของการสนับสนุนที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ อุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียคือ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ และการคืนทุนที่แตกต่างกับการลงทุนด้านสาธารณูปโภค เช่น ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสจะคืนทุนรวดเร็วกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สภากรุงเทพมหานครได้ ลงมติรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย (ฉบับที่...) พ.ศ......ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายละเอียดของร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการวิสามัญที่สภากรุงเทพมหานครตั้ง ขณะที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีนโยบายจัดทำ flood water system โดยใช้ระบบการควบคุมอัจฉริยะ จึงจำเป็นต้องมีระบบสนับสนุนโครงการที่เหมาะสม รวมถึงมีความสนใจในเรื่องการให้คำปรึกษาด้านการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งประเทศแคนาดามีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ
ผู้อำนวยการส่วนแผนงานและส่งเสริมศักยภาพของเมือง ให้การต้อนรับผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย (อังคาร, มกราคม 23, 2018)
ผู้อำนวยการส่วนแผนงานและส่งเสริมศักยภาพของเมือง ให้การต้อนรับผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย (อังคาร, มกราคม 23, 2018)