ข้อมูลการปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) ของกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
การควบคุมมลพิษทางอากาศของกรุงปักกิ่ง
ประสบการณ์และบทเรียนของกรุงปักกิ่ง
ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี พ.ศ. 2541 – 2560 กรุงปักกิ่งได้เพิ่มความพยายามที่จะควบคุมมลพิษทางอากาศให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ผ่านวิธีการแบบองค์รวมซึ่งเกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางด้านกฎหมาย ด้านการบริหาร ด้านเศรษฐกิจ และด้านเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองต่อการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของขนาดของเมือง จำนวนประชากร การบริโภคพลังงาน และหมู่ยานพาหนะ การปรับปรุงคุณภาพอากาศอันโดดเด่นที่บรรลุผลสำเร็จในระยะเวลา 20 ปี นั้นเป็นผลมาจากการใช้ประโยชน์ให้ได้คุณค่ามากที่สุดจากการผสมผสานพลังงานและโครงสร้างทางอุตสาหกรรม การควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่เคลื่อนที่ได้ และระบบการจัดการคุณภาพอากาศที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาตลอดกระบวนการที่ผ่านมา ประสบการณ์และบทเรียนต่าง ๆ ของกรุงปักกิ่งในการพัฒนาและการดำเนินนโยบายและกิจกรรมการควบคุมมลพิษทางอากาศถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบสำหรับเมืองต่าง ๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีนมาอย่างยาวนาน และประสบการณ์ของกรุงปักกิ่งได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาและกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษแห่งชาติและระบบการกำกับดูแลคุณภาพอากาศ
1. ระบบการจัดการคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพและเป็นแบบองค์รวมค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่างมาตลอด 20 ปีของความพยายาม โดยระบบมีลักษณะดังนี้
- ทำให้กลไกทางกฎหมายและการบังคับใช้สมบูรณ์ – ได้มีการสร้างระบบทางกฎหมายอันประกอบด้วยกฎหมายและข้อกำหนดในระดับเมืองหรือระดับชาติ การบังคับใช้ซึ่งเป็นการสนับสนุนและกลไกการตรวจสอบ โดยระบบนี้ให้คำแนะนำที่ชัดเจนเกี่ยวกับความรับผิดชอบเชิงบังคับของรัฐบาลในระดับเขตหรือเมืองในการพัฒนาและการดำเนินการของปฏิบัติการอากาศสะอาด
- การวางแผนเป็นระบบ – มีระบบสำหรับการปฏิบัติการอากาศสะอาดที่ครบวงจร ประกอบด้วยแผนระยะกลางถึงระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) แผนรายปี แผนชั่วคราวที่เน้นการดำเนินการที่ปรับปรุงพัฒนาแล้ว แผนทั้งหมดนี้ได้ถูกเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพเป็นผลให้บรรลุเป้าหมายรายปีและเป้าหมายระยะกลางถึงระยะยาว
- มาตรฐานท้องถิ่นที่ทรงพลัง – กรุงปักกิ่งได้สร้างมาตรฐานการปล่อยมลพิษท้องถิ่นที่สมบูรณ์แบบและมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ (เชื้อเพลิง) เพื่อสนับสนุนโครงการควบคุมมลพิษทางอากาศที่เข้มงวดของกรุงปักกิ่ง
- ความสามารถในการตรวจสอบที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น – ด้วยเทคโนโลยีการตรวจสอบแบบดั้งเดิมและการนำ Big Data รวมถึงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่อื่น ๆ มาใช้ กรุงปักกิ่งได้พัฒนาระบบการตรวจสอบและการประเมินคุณภาพอากาศแบบครบวงจรที่ประกอบด้วยข้อมูลจากดาวเทียม การตรวจจับระยะไกล และสถานีภาคพื้น รวมถึงระบบการตรวจสอบและติดตามแหล่งปล่อยมลพิษ
- การตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมสาธารณะอย่างสูง – ข้อมูลคุณภาพอากาศและข้อมูลโครงการควบคุมมลพิษถูกปล่อยผ่านสื่อทั้งแบบดั้งเดิมและแบบใหม่สู่สาธารณะชนในช่วงเวลาที่เหมาะสม ความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมสาธารณะและความเต็มใจที่จะร่วมกิจกรรมในการควบคุมมลพิษทางอากาศนั้นเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
2. การเพิ่มประสิทธิภาพเชิงคุณภาพในการผสมผสานพลังงานมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้นคุณภาพอากาศที่สวนทางกับการบริโภคพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น กิจการพลังงาน หม้อไอน้ำการทำความร้อนแบบรวมศูนย์และสถานที่อื่น ๆ ที่ใช้การเผาถ่านหินที่แปลงเป็นก๊าซ การทำอาหารและการทำความร้อนในหมู่บ้านต่างจังหวัดที่แปลงเป็นก๊าซธรรมชาติหรือกระแสไฟฟ้าทีละขั้นตอน กระแสไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานที่สะอาดกว่าอื่น ๆ นับได้กว่าร้อยละ 90 ของจำนวนการบริโภคพลังงานรวม และพื้นที่เขตเมืองที่ได้รับการพัฒนาแล้วและพื้นที่ราบส่วนใหญ่ของเขตชานเมืองได้กลายเป็น “เขตปลอดถ่านหิน” ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2560
3. ระบบการควบคุมการปล่อยมลพิษแบบบูรณาการ “ยานยนต์-เชื้อเพลิง-ถนน” เป็นต้นแบบให้กับเมืองต่าง ๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นตัวอย่างที่ดีในระดับสากลอีกด้วย การควบคุมการปล่อยมลพิษของยานยนต์ได้เริ่มต้นค่อนข้างล่าช้าในสาธารณรัฐประชาชนจีน กรุงปักกิ่งได้สร้างระบบการควบคุมการปล่อยมลพิษของยานยนต์โดยการรรับเอาประสบการณ์ในระดับสากลมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในท้องถิ่น มีเมืองต่าง ๆ
ในสาธารณรัฐประชาชนจีนได้นำ “ปักกิ่งโมเดล” มาใช้อย่างกว้างขวาง และได้ให้ประสบการณ์ในทางปฏิบัติที่มีค่ายิ่งในการปรับปรุงระบบการควบคุมการปล่อยมลพิษของยานยนต์แห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นตัวอย่างที่ดีในระดับสากล
4.ความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จนั้นมีบทบาทสำคัญ การพัฒนาและการปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพของกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคได้สร้างรากฐานสำหรับการปรับปรุงคุณภาพอากาศแบบก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ในกรุงปักกิ่งและภูมิภาคในช่วงเวลา 5 ปีหลัง
ประสบการณ์ ความท้าทาย และโอกาส
การปรับปรุงคุณภาพอากาศครั้งสำคัญนี้เกิดขึ้นภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ในเมืองหลวงแห่งนี้ กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกรุงปักกิ่งได้รักษาอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 6.5 ต่อปี ซึ่งโดยรวมเพิ่มขึ้น 10.8 เท่า และในปี พ.ศ. 2560 ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศต่อหัว (per capita GDP) มีมูลค่าเกิน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันความเข้มข้นของการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ต่อหน่วยจีดีพี (กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ (kg CO2) ต่อ 10,000 หยวน ยังคงรักษาแนวโน้มที่ลดลงอยู่ ปฏิบัติการอากาศสะอาดมีส่วนช่วยในการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจสังคมที่มีคุณภาพสูง ภาคสิ่งแวดล้อมที่รวมถึงการบริการเพื่อการตรวจสอบ การควบคุมมลพิษ และการให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมยังคงเติบโตควบคู่ไปกับการรณรงค์ควบคุมมลพิษอย่างเข้มงวดในสาธารณรัฐประชาชนจีน ผลผลิตทั้งหมดของภาคส่วนสิ่งแวดล้อมของสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ที่ 1.35 ล้านล้านหยวนในปี พ.ศ. 2560 โดยมากกว่าร้อยละ 20 เป็นการสนับสนุนจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในกรุงปักกิ่ง อุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมถูกจัดให้เป็นภาคส่วนที่สำคัญอันดับต้น ๆ ในกรุงปักกิ่งและยังเป็นการสร้างโอกาสในการทำงานให้มากขึ้น
ในขณะที่ความซับซ้อนของมลพิษทางอากาศในกรุงปักกิ่งมีความโดดเด่นไม่เหมือนใครในขั้นตอนการพัฒนา การบรรลุความสำเร็จนั้นส่วนหนึ่งอาจมาจากโครงสร้างทางรัฐบาล ก็ยังมีสิ่งที่เหมือนกันหลายอย่าง กล่าวคือ กรุงปักกิ่งพบว่ากุญแจสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน คือ ความตั้งใจอย่างแรงกล้า เป้าหมายที่ชัดเจน การมีกฎหมาย แผน และนโยบายที่เอื้ออำนวย รวมถึงการนำไปใช้และการจัดการบังคับใช้ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในวัตถุประสงค์เหล่านี้จะเสริมสร้างให้การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และยังสร้างความสามัคคีในสังคมมากขึ้นอีกด้วย
แม้ว่าได้มีการปรับปรุงคุณภาพอากาศครั้งใหญ่ กรุงปักกิ่งและบริเวณโดยรอบยังคงเผชิญแรงกดดันและความท้าทายในการควบคุมมลพิษทางอากาศในอนาคต ในปี พ.ศ. 2560 ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในกรุงปักกิ่งมีค่าสูงกว่ามาตรฐานแห่งชาติคุณภาพอากาศในบรรยากาศ (National Ambient Air Quality Standard) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนถึง ร้อยละ 66 และสูงกว่าข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (10 µg/m3 สำหรับฝุ่น PM2.5) อีกทั้ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไม่มีการควบคุมการเพิ่มขึ้นของโอโซน (O3) ในบรรยากาศจนทำให้เกิดปัญหามลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมของชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่องยังคงต้องการความพยายามเพิ่มเติมอย่างไม่หยุดหย่อน
ในอนาคต
อะไรคือตัวเลือกสำหรับก้าวต่อไปในอนาคต:
- การพิจารณาการควบคุมมลพิษฝุ่น PM5 และมลพิษที่เกิดจากก๊าซโอโซน
- การปรับใช้โครงสร้างพลังงานและประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เหมาะสมในเวลาเดียวกันเพื่อการพัฒนาคาร์บอนต่ำ และให้บรรลุเป้าหมายด้านคุณภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศในอนาคต
- การทำงานในด้านการควบคุมการปล่อยมลพิษของยานยนต์และการปรับโครงสร้างการขนส่งให้เหมาะสม เพื่อสร้างระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงและปล่อยมลพิษน้อยลง
- การเข้มงวดในการควบคุมมลพิษจากแหล่งที่มีจุดกำเนิดไม่แน่นอน
- การพัฒนาความร่วมมือระหว่างกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย และพื้นที่โดยรอบ
- การบูรณาการเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมระดับเมืองให้เข้ากับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)
ภาพรวมของการปรับปรุงคุณภาพอากาศของกรุงปักกิ่ง
ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีนและมหานครสากล กรุงปักกิ่งได้เริ่มจัดทำโครงการควบคุมมลพิษทางอากาศแบบองค์รวมเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ซึ่งด้วยความพยายามอย่างต่อเนื่องในการควบคุมมลพิษทางอากาศ ความเข้มในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงมีค่าลดลงในแต่ละปีและคุณภาพอากาศมีสภาวะที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2560 ข้อมูลสังเกตการณ์ภาคพื้นได้แสดงให้เห็นว่า ความหนาแน่นเฉลี่ยรายปีของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่าลดลงอยู่ที่ร้อยละ 93.3 ร้อยละ 37.8 และร้อยละ 55.3 ตามลำดับ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จำนวนประชากร และยานยนต์ในกรุงปักกิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ที่ร้อยละ 1,078 ร้อยละ 74 และร้อยละ 335
ในปี พ.ศ. 2562 ความหนาแน่นเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่าอยู่ที่ 42 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานทุติยภูมิแห่งชาติ (35 µg/m3) อยู่ที่ร้อยละ 20 และค่าความหนาแน่นเฉลี่ยรายสามปีแบบเคลื่อนที่อยู่ที่ 50 µg/m3 ในปี พ.ศ. 2560 - 2562 ความหนาแน่นเฉลี่ยรายปีของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มีค่าอยู่ที่ 4 µg/m3 ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานทุติยภูมิแห่งชาติ (60 µg/m3) อย่างคงที่ และรักษาเลขหนึ่งหลักมาตลอด 3 ปีซ้อน ความหนาแน่นเฉลี่ยรายปีของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีค่าอยู่ที่ 37 µg/m3
ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานทุติยภูมิแห่งชาติ (40 µg/m3) ความหนาแน่นเฉลี่ยรายปีของฝุ่น PM10 มีค่าอยู่ที่ 68 µg/m3
ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานทุติยภูมิแห่งชาติ (70 µg/m3)
รูปภาพ 1 แนวโน้มของความเข้มข้นรายปีสำหรับมลพิษทางอากาศตามเกณฑ์ที่กำหนดในกรุงปักกิ่ง ระหว่างปี พ.ศ. 2541 - 2562
ระบบการจัดการคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพ
ระบบการจัดการคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและครอบคลุมทุกด้านเป็นรูปเป็นร่างขึ้นทีละน้อยตลอดระยะเวลา 20 ปีของการดำเนินการ โดยระบบมีคุณลักษณะจำเพาะดังนี้ (ก) กลไกการออกกฎหมายและการบังคับใช้ที่สมบูรณ์ (ข) การวางแผนอย่างเป็นระบบ (ค) มาตรฐานท้องถิ่นที่มีสมรรถนะสูง (ง) ความสามารถในการตรวจสอบที่เข้มข้น และ (จ) การตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมสาธารณะอย่างสูง
การสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจและการสนับสนุนทางการเงิน
ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งได้ค่อย ๆ สร้างนโยบายเศรษฐกิจด้านสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง เงินอุดหนุน ค่าธรรมเนียม การกำหนดราคา และการดำเนินการทางการเงินแบบอื่น ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจสำหรับการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ (รูปภาพที่ 2 ก) ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายเพื่อการควบคุมมลพิษทางอากาศได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) (รูปภาพที่ 2 ข) ที่แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของรัฐบาลในด้านการควบคุมมลพิษทางอากาศ
รูปภาพ 2 นโยบายเศรษฐกิจหลัก (ก) และการลงทุนทางการเงิน (ข) ในด้านการควบคุมมลพิษทางอากาศในกรุงปักกิ่ง ระหว่างปี 2541 – 2560
แหล่งที่มา สถาบันวิจัยคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งเทศบาลกรุงปักกิ่ง สำนักการคลังแห่งเทศบาลกรุงปักกิ่ง
ระบบการตรวจสอบคุณภาพอากาศที่ซับซ้อน
กรุงปักกิ่งได้เริ่มสร้างระบบการตรวจสอบคุณภาพอากาศ (AQM) ขึ้นในช่วงทศวรรษปี ค.ศ. 1980 ซึ่งในปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) สถานีตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ จำนวน 35 แห่ง ที่สามารถตรวจสอบมลพิษหลัก 6 ประเภท เช่น ฝุ่น PM2.5 และก๊าซโอโซน (O3) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นทั่วกรุงปักกิ่ง โดยในปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2559) ด้วยการการผสมผสานระหว่างกันของเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น การรับรู้จากระยะไกลผ่านดาวเทียมที่มีความละเอียดสูงและเรดาร์แสงเลเซอร์ เครือข่ายการตรวจสอบคุณภาพอากาศแบบบูรณาการรุ่นใหม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้น ตัวอย่างเช่น รูปภาพ 3 แสดงเครือข่ายการตรวจสอบความหนาแน่นของฝุ่น PM2.5 ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งใช้งานเครื่องส่งสัญญาณตรวจหาฝุ่น PM2.5 กว่า 1,000 เครื่องทั่วทั้งเมืองและช่วยบ่งชี้ช่วงเวลาและพื้นที่ที่มีการปล่อยมลพิษสูงได้อย่างแม่นยำ
รูปภาพ 3 เครือข่ายตรวจสอบฝุ่น PM2.5 ที่ใช้เซ็นเซอร์ที่มีความเข้มข้นสูง
แหล่งที่มา: ศูนย์ตรวจสอบทางสิ่งแวดล้อมเทศบาลกรุงปักกิ่ง
การลดการปล่อยก๊าซจากแหล่งเผาถ่านหิน
การเผาถ่านหินเป็นแหล่งปล่อยมลพิษทางอากาศที่สำคัญในกรุงปักกิ่งมาโดยตลอดและกรุงปักกิ่งได้ทำการส่งเสริมการควบคุมการจัดการที่ปลายท่อ (end-of-pipe) และการปรับโครงสร้างพลังงานอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปีที่ผ่านมา มุ่งเน้นไปที่โรงงานผลิตไฟฟ้า หม้อไอน้ำที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และการใช้ถ่านหินในครัวเรือน แหล่งปล่อยมลพิษดังกล่าวเหล่านี้ได้ถูกควบคุมพร้อมกันเพื่อให้บรรลุความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด
ในการนี้ ขอยกโรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหินเป็นตัวอย่าง กรุงปักกิ่งได้ใช้นโยบาย “ถ่านหินสู่ก๊าซ (coal-to-gas)” มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) และได้ลดการเผาถ่านหินเกือบ 11 ล้านตันในปี ค.ศ. 2017
(พ.ศ. 2560) โดยโรงงานบำบัดปลายทางที่มีประสิทธิภาพสูงนั้นได้ถูกปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และมาตรฐานการปล่อยมลพิษต่ำสุดได้ถูกบังคับใช้ในช่วงตลอดระยะเวลานี้ ในปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) การปล่อยมลพิษของฝุ่น PM2.5 ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOX) ลดลงร้อยละ 97 ร้อยละ 98 และร้อยละ 86 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว เป็นผลให้เกิดประโยชน์ทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ
รูปภาพ 4 มาตรการเฉพาะและขั้นตอนการควบคุมการเผาถ่านหิน ระหว่างปี พ.ศ. 2541 – 2560
แหล่งที่มา: สำนักคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเทศบาลกรุงปักกิ่ง มหาวิทยาลัยซิงหวา
การควบคุมการปล่อยมลพิษของยานยนต์
การป้องกันและการควบคุมมลพิษของยานยนต์เป็นภาระกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งมาอย่างยาวนานในการควบคุมมลพิษทางอากาศของกรุงปักกิ่ง โดยมุ่งเน้นไปที่ยานยนต์ใหม่ ยานพาพนะที่อยู่ระหว่างการใช้งาน และคุณภาพเชื้อเพลิง กรุงปักกิ่งได้ใช้ชุดของมาตรฐานการปล่อยมลพิษในท้องถิ่นและมาตรการการควบคุมแบบองค์รวมหลายรูปแบบด้วยกัน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการจราจรและแรงจูงใจทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง (รูปภาพ) และได้มีการพัฒนากรอบทำงาน “ยานยนต์-เชื้อเพลิง-ถนน” แบบบูรณาการ ที่สำคัญกว่านั้นคือ ระบบการขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้เกิดการก่อตัวอย่างช้า ๆ ของพฤติกรรมการเดินทางในเมืองซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีคาร์บอนต่ำของประชาชน
ถึงแม้ว่าจำนวนยานยนต์ในกรุงปักกิ่งเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ในช่วงระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การปล่อยมลพิษโดยรวมทั้งหมดมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) การปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไฮโดรคาร์บอนรวม (THC) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOX) และฝุ่น PM2.5 ในภาคการขนส่งมีจำนวนลดลงเกือบ 1,105 กิโลตัน (kt) 94 กิโลตัน 71 กิโลตัน และ 6 กิโลตัน ในปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ด้วยอัตราที่ลดลงถึงร้อยละ 89 ร้อยละ 54 ร้อยละ55 และร้อยละ 81 ตามลำดับ ในช่วงระยะเวลานี้ การยุติการใช้ยานยนต์ที่มีอายุมากมีส่วนช่วยให้เกิดความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญที่สุด
รูปภาพ 5 ภาพรวมของมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษหลักสำหรับยานยนต์เครื่องยนต์ในกรุงปักกิ่ง ระหว่างปี พ.ศ. 2541 – 2560
แหล่งที่มา: อดีตสำนักคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเทศบาลกรุงปักกิ่ง มหาวิทยาลัยซิงหวา
ความร่วมมือระหว่างกรุงปักกิ่งและพื้นที่โดยรอบ
นอกเหนือจากการพัฒนาปรับปรุงการควบคุมมลพิษทางอากาศในพื้นที่แล้ว กรุงปักกิ่งยังพยายามแสวงหาความร่วมมือกับพื้นที่โดยรอบเกี่ยวกับมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศ ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) กรุงปักกิ่งได้ถูกขอให้เป็นผู้นำในการจัดตั้งกลไกสำหรับการป้องกันและการควบคุมมลพิษทางอากาศร่วมกันในกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย และพื้นที่โดยรอบโดยการสนับสนุนของสภาแห่งรัฐของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) อดีตกระทรวงการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ระบุ 28 เมืองในกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย และพื้นที่โดยรอบให้เป็นช่องทางการขนส่งมลพิษทางอากาศ ด้วยการวางแผนร่วมกัน มาตรฐานที่เป็นหนึ่งเดียว การตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินร่วมกัน และการแบ่งปันข้อมูล ทำให้คุณภาพอากาศทั่วทั้งภูมิภาคได้รับการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญ ตามที่รูปภาพ 6 แสดงนั้น ความเข้มข้นเฉลี่ยต่อปีของฝุ่น PM2.5 ของกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย และพื้นที่โดยรอบลดลงเกือบร้อยละ 25 ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2013 - 2017 (พ.ศ. 2556 - 2560)
รูปภาพ 6 การกระจายตัวของความเข้มข้นเฉลี่ยต่อปีของฝุ่น PM2.5 ตามพื้นที่ในกรุงปักกิ่ง - นครเทียนจิน - มณฑลเหอเป่ย และพื้นที่โดยรอบ
(พ.ศ. 2556 – 2560)
แหล่งที่มา: มหาวิทยาลัยซิงหวา
ผลสะท้อนและโอกาสในก้าวต่อไป
แม้ว่าได้มีการปรับปรุงคุณภาพอากาศครั้งใหญ่ กรุงปักกิ่งและภูมิภาคโดยรอบยังคงเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ ในปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 โดยเฉลี่ยต่อปีในกรุงปักกิ่งยังคงอยู่ที่ร้อยละ 66 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานแห่งชาติคุณภาพอากาศในบรรยากาศของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ 35 µg/m3 และยังคงสูงกว่าข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ตั้งไว้ที่ 10 µg/m3 กว่ามาก อีกทั้ง มลพิษก๊าซโอโซนกลายเป็นความกังวลครั้งใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การควบคุมมลพิษทางอากาศยังคงเป็นงานระยะยาวและยากลำบากที่ต้องใช้ความพยายามอย่างไม่หยุดหย่อน ปัจจุบันกรุงปักกิ่งและภูมิภาคโดยรอบเผชิญกับ “ภาวะที่ยากลำบาก” ในการรับมือกับฝุ่น PM2.5 และก๊าซโอโซนแบบบูรณาการ
เมื่อมองไปข้างหน้า ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำสำหรับกรุงปักกิ่งเกี่ยวกับกลยุทธ์การควบคุมมลพิษทางอากาศในอนาคตและในระยะยาว
- ควรขยายการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการควบคุมสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds (VOCs)) และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOX) ที่สร้างขึ้นโดยระบบควบคุมการปล่อยมลพิษ ยานยนต์ - เชื้อเพลิง - ถนน ไปสู่ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนบนพื้นดินขรุขระ (off-road) ที่มุ่งเป้าเพื่อบรรเทาเครื่องยนต์ทั้งฝุ่น PM5 และก๊าซโอโซน ทั้งฝุ่น PM2.5 และก๊าซโอโซนในบรรยากาศเป็นภัยคุกคามสุขภาพของมนุษย์โดยตรงและในขณะเดียวกันก็มีความซับซ้อนและยากที่จะควบคุมได้ การควบคุม VOCs ซึ่งเป็นสารตั้งต้นหลักของฝุ่น PM2.5 และก๊าซโอโซนในบรรยากาศมีความสำคัญที่จะช่วยลดระดับของสารมลพิษทั้งสองได้ การควบคุม VOCs ขึ้นอยู่กับระบบการควบคุมการปล่อยมลพิษซึ่งครอบคลุมถึงการตรวจสอบ ข้อมูลด้านการปล่อยสารมลพิษ และนโยบายเฉพาะส่วน ควรขยายลำดับความสำคัญในการควบคุม VOCs จากอุตสาหกรรมหลัก ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี การพิมพ์และการย้อม และการผลิตเครื่องเรือน ไปสู่แหล่งที่มีจุดกำเนิดไม่แน่นอนที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ได้แก่ ร้านซ่อมรถ ร้านอาหาร และร้านซักแห้ง
- การมุ่งเน้นโครงสร้างพลังงานและประสิทธิภาพของการใช้พลังงานควบคู่ไปกับพลังงานผสมผสาน (Energy Mix) ที่มีคาร์บอนต่ำเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ดังนั้น จึงเป็นการสมควรที่กรุงปักกิ่งจะยังคงใช้ความพยายามระยะสุดท้ายในการนำถ่านหินออกจากพลังงานผสมผสานเพื่อสร้างเมืองให้เป็นเมืองปลอดถ่านหิน ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานใหม่จึงมีโอกาสที่จะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในพลังงานผสมผสานเพื่อลดทั้งการปล่อยมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ (fossil fuel) และในขณะเดียวกัน ควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้พลังงานในกิจกรรมหรืออุตสาหกรรมที่เน้นการใช้พลังงาน ซึ่งรวมถึงระบบทำความร้อน ระบบการปรับอากาศ การขนส่ง และอุตสาหกรรม อย่างเท่าเทียมกันด้วย การจับคู่กันของวิธีการที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้พลังงานและกลยุทธ์พลังงานที่สะอาดกว่าจะช่วยลดความต้องการเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ ณ แหล่งกำเนิด และแยกคู่ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมออกจากการเติบโตของการบริโภคเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์
- การทำงานด้านการควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดเคลื่อนที่ และการปรับโครงสร้างการขนส่งให้เหมาะสมเพื่อสร้างระบบการขนส่งที่ปล่อยมลพิษต่ำ
เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดเคลื่อนที่ สัดส่วนที่เหมาะสมของยานยนต์ไฟฟ้าในหมู่ยานพาหนะสาธารณะ เช่น รถประจำทาง รถแท็กซี่ และรถยนต์โดยสารที่มีขนาดใหญ่ เพื่อสร้างหมู่ยานพาหนะสาธารณะที่ปล่อยมลพิษต่ำ ด้วยขนาดเมืองของกรุงปักกิ่ง สามารถสร้างเขตปล่อยมลพิษต่ำได้ในพื้นที่ที่มีหน้าที่ต่างกันในเมือง ภายในเร็ววันนี้ ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และเทคโนโลยีอัจฉริยะจะพร้อมใช้งานในการตรวจจับยานยนต์เชื้อเพลิงดีเซลที่ปล่อยมลพิษสูงที่ขับเคลื่อนในกรุงปักกิ่งอย่างแม่นยำ ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ และเพิ่มสัดส่วนของการขนส่งทางรถไฟให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วเพื่อสร้างระบบการขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีคาร์บอนต่ำ
- การเข้มงวดในการควบคุมมลพิษจากแหล่งที่มีจุดกำเนิดไม่แน่นอน
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการควบคุมแหล่งปล่อยมลพิษจากแหล่งที่มีจุดกำเนิดแน่นอนและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงคุณภาพอากาศต่อไป ควรนำเอาการควบคุมแหล่งที่มีจุดกำเนิดไม่แน่นอนต่าง ๆ มาพิจารณา แหล่งที่มีจุดกำเนิดไม่แน่นอนรวมถึงแหล่งเล็กที่กระจัดกระจายทั่วไป เช่น ส่วนบริการในเขตเมือง (ร้านอาหาร ร้านซ่อมรถ ร้านพ่นสี และอื่น ๆ) และกิจกรรมด้านการทำฟาร์ม ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ออกแบบมาอย่างแม่นยำมาก ๆ สำหรับแหล่งที่มีลักษณะเฉพาะ
- ส่งเสริมกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
กรุงปักกิ่งควรมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคซึ่งในปัจจุบันนำโดยรัฐบาลกลาง และให้การสนับสนุนที่จำเป็นในการปฏิบัติการและการปรับปรุง ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศในระดับภูมิภาค การปรับโครงสร้างพลังงานในระดับภูมิภาคเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและโครงสร้างการขนส่งให้ทันสมัยยิ่งขึ้น (โดยเฉพาะการขนส่งสินค้า) ด้วยการวางแผนหัวข้อหลักสำคัญเหล่านี้และการดำเนินการในระดับภูมิภาค เมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคต่างร่วมดำเนินการโดยผ่านขั้นตอนการประสานงาน ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยมลพิษทั้งหมดได้ในภูมิภาค และเป็นการวางรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อการปรับปรุงคุณภาพอากาศครั้งสำคัญในกรุงปักกิ่งและภูมิภาค
- บูรณาการเป้าหมายสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นเข้ากับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยืน ค.ศ. 2030
(พ.ศ. 2573)
องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) สำหรับโลกเมื่อปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ครอบคลุม 17 เป้าหมาย รวมถึง การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียมกันทางเพศ เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ และอื่น ๆ การปฏิบัติและแบบอย่างที่ดีในระดับเมืองคือกุญแจสำคัญที่ตระหนักถึงความยั่งยืนระดับสากล ในฐานะที่เป็นแบบอย่างในการจัดการมลพิษที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่รวดเร็ว กรุงปักกิ่งจึงได้รับคำแนะนำในการออกแบบเป้าหมายและแผนการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) จึงเป็นทางเลือกที่ถูกต้องในการรับมือกับความท้าทายในด้านจำนวนประชากร แหล่งทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองที่มีคุณภาพสูงให้ไปข้างหน้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น
เอกสารแนบ : Best Practice - การปรับปรุงคุณภาพอากาศของกรุงปักกิ่ง (รัชปาน) (หนก.ตรวจแล้ว).pdf