ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ก่อนวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การท่องเที่ยวในทวีปเอเชียเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การเดินทางทางอากาศอย่างอิสระ และความร่วมมือในระดับภูมิภาค ประเทศในทวีปเอเชียจำนวนมากตระหนักดีว่าศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศขนาดเล็กที่มีปริมาณการจ้างงานในภาคการผลิตที่จำกัด ดังเช่นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

บทนำ

                     ก่อนวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การท่องเที่ยวในทวีปเอเชียเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การเดินทางทางอากาศอย่างอิสระ และความร่วมมือในระดับภูมิภาค ประเทศในทวีปเอเชียจำนวนมากตระหนักดีว่าศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศขนาดเล็กที่มีปริมาณการจ้างงานในภาคการผลิตที่จำกัด ดังเช่นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

                     ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น ภาคการท่องเที่ยวประสบปัญหาทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โรคระบาดกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ ต้องกำหนดมาตรการจำกัดการเดินทาง และส่งผลให้ประชาชนงดเดินทางท่องเที่ยวเนื่องจากกลัวการติดเชื้อ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวในระยะเวลาอันสั้นเนื่องจากมีการบังคับใช้มาตรการจำกัดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ รวมถึงความต้องการในการท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA) คาดว่าสถานการณ์การเดินทางทางอากาศ[1]จะกลับสู่สภาวะปกติใน พ.ศ. 2567

                     รายงานสรุปเชิงนโยบายนี้เรียบเรียงจากบทความของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB)[2] ซึ่งวิเคราะห์เรื่องการท่องเที่ยวภายในประเทศและแนวคิดเรื่องการเชื่อมต่อการเดินทาง (Travel Bubble) ในฐานะยุทธศาตร์เพื่อการช่วยเหลือฟื้นฟูอุตสาหกรรมกการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก


การเปลี่ยนแปลงแนมโน้มการท่องเที่ยว

                    ข้อมูลขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization หรือ UNWTO)[3] ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากทวีปเอเชียเพิ่มขึ้นสามเท่าเป็น 468.6 ล้านคนในปี 2561 จาก 152.7 ล้านคนใน พ.ศ. 2543 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นมากที่สุด ในขณะที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียตะวันตกเติบโตมากที่สุด รองลงมาคือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งรวมถึงประเทศญี่ปุ่นเคยเป็นภูมิภาคที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุด โดยในปี 2561 ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 285 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่มีจำนวน 115.4 ล้านคน ลำดับถัดมาคือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งใน พ.ศ. 2561 มีนักท่องเที่ยว 97.6 ล้านคน ตามด้วยภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก (41.1 ล้านคน) เอเชียใต้ (23.6 ล้านคน) และแปซิฟิกซึ่งรวมถึงประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (21.2 ล้านคน)

                     อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนในภูมิภาคลดลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น ๆ นำไปสู่การสูญเสียตำแหน่งงานและอุปสรรคทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจขนาดเล็กสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะหรือธุรกิจขนาดเล็กในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

                     ผลสำรวจของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศเมื่อเดือนเมษายน 2563[4] พบว่า ร้อยละ 40 ของผู้ตอบแบบสอบถามจะรออีก 6 เดือนหรือมากกว่าก่อนจะเดินทางอีกครั้ง โดยข้อมูลจากรายงานประจำเดือนสิงหาคม 2563 [5] พบว่าจำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50

 

สัดส่วนของการท่องเที่ยวที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

                     เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกพึ่งพาการท่องเที่ยวในระดับที่แตกต่างกัน (ข้อมูลตามตาราง 1) โดยวิธีการหนึ่งที่สามารถวัดระดับความสำคัญทางเศรษฐกิจคืออัตราส่วนมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross domestic product หรือ GDP) ตามที่ระบุในข้อมูลสถิติดุลการชำระเงิน (balance-of-payments statistics) ที่รายงานต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ประมาณการรายจ่ายดังกล่าวนี้มาจากการรวบรวมรายการค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวซึ่งรวมถึงค่าพาหนะของนักท่องเที่ยวที่ชำระผ่านบัตรเครดิต

ตาราง 1  การแบ่งกลุ่มเศรษฐกิจตามการพึ่งพาการท่องเที่ยว

เศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง
(มากกว่าร้อยละ 10 ของจีดีพี)

กัมพูชา ฟิจิ จอร์เจีย ฮ่องกง มัลดีฟส์ ปาเลา ไทย ตองกา ซามัว วานูอาตู

เศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว
(ร้อยละ 5 – 10 ของจีดีพี)

อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน ไมโครนีเซีย คีร์กีซสถาน มาเลย์เซีย

หมู่เกาะมาร์แชลล์ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ หมู่เกาะโซโลมอน ศรีลังกา

เศรษฐกิจที่มีการท่องเที่ยวขนาดใหญ่
(ร้อยละ 2.5 – 5 ของจีดีพี)

ออสเตรเลีย ภูฏาน ลาว มองโกเลีย เนปาล ฟิลิปปินส์ ไทเป

ติมอร์-เลสเต อุซเบกิสถาน เวียดนาม

เศรษฐกิจที่มีการท่องเที่ยวขนาดเล็ก
(น้อยกว่าร้อยละ 2.5 ของจีดีพี)

อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ บรูไน ญี่ปุ่น คาซัคสถาน คิริบาตี อินเดีย อินโดนีเซีย เมียนมาร์ นาอูรู ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี จีน เกาหลีใต้ ทาจิกิสถาน

จีดีพี = ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross domestic product หรือ GDP)

 

                     ข้อมูลขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2560 และ 2561 รายงานว่าประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ มัลดีฟส์ (ร้อยละ 57.8 ของจีดีพี) ปาเลา (ร้อยละ 42.2) และวานูอาตู (ร้อยละ 37.1)

 

ทางเลือกในการดำเนินนโยบาย

                     รัฐบาลจะต้องกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวออกเป็นระยะ ๆ เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างสาธารณสุขและความต้องการทางเศรษฐกิจ อาจเริ่มต้นโดยการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงที่มีการบังคับใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางในประเทศ

                     ในขณะเดียวกัน ประเทศที่สามารถลดอัตราการติดเชื้อได้แล้วอาจพิจารณาแนวคิดเรื่องการเชื่อมต่อการเดินทาง (Travel Bubble) หรือระเบียงสีเขียว (Green Corridors) ร่วมกับประเทศอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคโควิด-19 เช่นกัน โดยความตกลงด้านการท่องเที่ยวแบบทวิภาคีเหล่านี้สามารถขยายขอบเขตสู่กลุ่มประเทศในระดับอนุภูมิภาค

 

                     การวิเคราะห์สถานการณ์ทั้ง 3 รูปแบบต่อไปนี้เป็นทางเลือกในการดำเนินนโยบายสำหรับประเทศที่วางแผนการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว

 

สถานการณ์ที่ 1 การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

                     การท่องเที่ยวภายในประเทศที่มียุทธศาสตร์และนโยบายการกระตุ้นที่เหมาะสมสามารถนำไปสู่การฟื้นตัวในการฟื้นฟูระยะเริ่มแรก โดยหลักการแล้ว ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีระบบเศรษฐกิจเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่การท่องเที่ยวภายในประเทศมีศักยภาพทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างสมบูรณ์ โดยอาศัยสมมติฐานที่ว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางไปต่างประเทศในปี 2561 เลือกที่จะท่องเที่ยวในประเทศตนเองในปี 2563 ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2561 ประเทศฟิลิปปินส์รับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 7 ล้านคน ในขณะที่มีชาวฟิลิปปินส์เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ 8 ล้านคน หากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ท่องเที่ยวอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศจะมีอุปสงค์ส่วนเกิน (excess demand) 1 ล้านคน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูงอาจต้องเผชิญกับช่องว่างขนาดใหญ่ในอุปสงค์

                     การเปรียบเทียบการจับจ่ายใช้สอยที่เกิดจากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติกับนักท่องเที่ยวในประเทศตามข้อมูลสถิติดุลการชำระเงิน[6] แสดงให้เห็นถึงค่าทางเศรษฐกิจ (Economic weight) ของทั้งสองกลุ่มที่ชัดเจนกว่า หากนักท่องเที่ยวภายในประเทศสามารถทดแทนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ ระบบเศรษฐกิจของ 19 ประเทศจะมีส่วนเกินการท่องเที่ยว (Tourism surplus) ในขณะที่อีก 22 ประเทศจะขาดดุล โดยเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูงจะประสบภาวะขาดดุลสูงกว่า นอกจากนี้ มีหลายกรณีที่การขาดดุลสูงกว่าช่องว่างระหว่างจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสองกลุ่มเนื่องจากมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสูงกว่ามาก

                     การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศสามารถดำเนินการได้ค่อนข้างง่ายดาย แต่อาจประสบปัญหาดังต่อไปนี้

  • สายการบินและโรงแรมเปิดให้บริการอย่างจำกัดเนื่องจากมาตรการควบคุม
  • นักท่องเที่ยวมีความสนใจในสถานที่ท่องเที่ยวภายในประเทศน้อย
  • อุปสงค์ต่ำเนื่องจากความหวาดกลัวการติดเชื้อและรายได้ที่ลดลง
  • การปิดพื้นที่ต่าง ๆ
  • สถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวก (เช่น การเดินทางด้วยวิธีต่าง ๆ) อาจออกแบบสำหรับตลาดต่างประเทศมากกว่านักท่องเที่ยวภายในประเทศ

                    

สถานการณ์ที่ 2 การใช้แนวคิดเรื่องการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสองประเทศ

                     ประเทศต่าง ๆ อาจอนุญาตให้มีการเดินทางเข้าประเทศเพื่อประกอบธุรกิจเท่านั้น หรืออาจรวมถึงการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจภายใต้การเชื่อมต่อการเดินทาง (Travel Bubble) ระหว่างสองประเทศ หรือระเบียงสีเขียว (Green Corridor) โดยทั่วไปแล้วการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสองประเทศระบุให้ผู้เดินทางต้องผ่านการตรวจโรคทั้งก่อนและหลังการเดินทาง และมีช่วงระยะเวลากักตัวลดลง โดยประเทศจีนและรัฐเกาหลีใต้ได้ใช้นโยบายนี้เป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 โดยจำกัดเพียงนักธุรกิจที่มีหนังสือเชิญจากบริษัทในอีกประเทศหนึ่งเท่านั้น

                     การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสองประเทศอาจช่วยเหลือเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงโดยอาศัยนักท่องเที่ยวจากอีกประเทศหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศฟิจิกับออสเตรเลียอาจช่วยลดการขาดดุลการท่องเที่ยวของฟิจิได้ครึ่งหนึ่ง โดยสถานการณ์ที่ 2 นี้มีสมมติฐานว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเยือนระหว่างสองประเทศมีจำนวนเทียบเท่ากับช่วงเวลาก่อนการแพร่ระบาด ซึ่งอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง นอกจากนี้ การท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศต้องเผชิญปัญหาเช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น มาตรการกักกันโรค การตรวจโรค การกักตัว ประชากรท้องถิ่นกลัวติดโรคจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นต้น

                     โดยปกติแล้วประเทศที่จะพิจารณาใช้การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสองประเทศจะต้องผ่านสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดแล้ว รวมถึงระดับความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเชื่อมต่อการเดินทางที่ประสบความสำเร็จ การวิเคราะห์โดยอาศัยปัจจัยดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีศักยภาพในการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสองประเทศมากที่สุด เนื่องจากระบบเศรษฐกิจมีความพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดสูง และตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ประเทศหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีศักยภาพสูงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ยังความพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดที่จำกัด  

 

สถานการณ์ที่ 3 การใช้แนวคิดเรื่องการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างอนุภูมิภาค

                     สถานการณ์ที่ 3 นี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าการท่องเที่ยวผ่านการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างอนุภูมิภาคจะพัฒนาขึ้นสู่ระดับเดียวกับสถานการณ์ก่อนการแพร่ระบาด โดยใช้การเชื่อมต่อการเดินทางควบคู่กับความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคที่หรือกลุ่มเศรษฐกิจมีอยู่ก่อนแล้ว เช่น โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion) เป็นต้น ซึ่งประชาชนมีการเดินทางภายในอนุภูมิภาคในระดับสูง โดยความร่วมมือเหล่านี้จะเอื้อประโยชน์ในการเจรจาต่อรองและการปฏิบัติตามข้อตกลงด้านการท่องเที่ยวดังกล่าว

                     การวิเคราะห์และคาดการณ์การใช้นโยบายทราเวลบับเบิ้ลใน 5 ภูมิภาค สรุปได้ดังนี้

  • การปรับใช้แนวคิดเรื่องการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างอนุภูมิภาคผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเอเชียกลาง (Central Asia Regional Economic Cooperation Program หรือ CAREC) สามารถช่วยลดช่องว่างทางการท่องเที่ยวของประเทศจอร์เจียและคีร์กิซสถาน
  • การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกกับประเทศปาเลาจะช่วยให้ปาเลาลดการขาดดุลการท่องเที่ยวได้เกือบทั้งหมด เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากเอเชียตะวันออก
  • การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกกับตลาดขนาดใหญ่ ดังเช่นออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะเป็นประโยชน์
  • การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กับสมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือระดับภูมิภาค (SAARC) คาดว่าจะเป็นประโยชน์น้อยเนื่องจากตลาดการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของหลายประเทศอยู่นอกภูมิภาค

                     แนวคิดเรื่องการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างอนุภูมิภาคอาจไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับประเทศสมาชิกในกลุ่มภูมิภาคทั้งหมด ผู้กำหนดนโยบายบางส่วนจึงเลือกใช้การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสองประเทศไปก่อน

 

คำแนะนำสำหรับการกำหนดนโยบาย

การท่องเที่ยวภายในประเทศ

                     การท่องเที่ยวภายในประเทศจะช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศมีความเข้มแข็ง การปรับเปลี่ยนทิศทางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปต่างประเทศให้กลับมาสู่สถานที่ท่องเที่ยวภายในประเทศอาจช่วยเติมเต็มช่องว่างทางเศรษฐกิจในประเทศจำนวนครึ่งหนึ่งของภูมิภาคได้

                     อย่างไรก็ตาม ประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง ประกอบด้วยเศรษฐกิจแบบหมู่เกาะต่าง ๆ เช่น ฟิจิ หมู่เกาะคุก ปาเลา มัลดีฟส์ เป็นต้น อาจไม่สามารถเลือกใช้นโยบายนี้ได้ โดยรัฐบาลอาจพิจารณาการสนับสนุนให้บริษัทท่องเที่ยวดำเนินมาตรการ “การสร้างให้ดีกว่าเดิม (build back better)” ซึ่งอาจเป็นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างแนวปฏิบัติด้านสุขภาพและความสะอาด โครงการพิเศษเพื่อกระตุ้นความต้องการของตลาด และส่งเสริมการลงทุนในการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

                           

ความร่วมมือระดับภูมิภาค

                             เศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูงโดยอาศัยนักท่องเที่ยวจากประเทศใดประเทศหนึ่งอาจได้รับประโยชน์จากการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสองประเทศ แต่ความตกลงจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การแพร่ระบาด ดังเช่นจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้น

                             หากการเดินทางข้ามประเทศภายในอนุภูมิภาคมีความสำคัญ อาจต้องพิจารณาแนวคิดการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างอนุภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องการแพร่ระบาดอาจมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างอนุภูมิภาคมีเงื่อนไขทางนโยบายที่สำคัญคือการสร้างความตกลงร่วมกันในเรื่องการเดินทาง การท่องเที่ยว และการติดตามประวัติการสัมผัสแบบข้ามประเทศและภายในภูมิภาค ซึ่งอาจต้องอาศัยเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น รหัสคิวอาร์ (QR Code) บลูทูธ (Bluetooth) เป็นต้น

                     อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องการเชื่อมต่อการเดินทางไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด และควรใช้แบบชั่วคราวเท่านั้น หากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายแล้ว ประเทศต่าง ๆ ควรเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศภายใต้แนวปฏิบัติแบบเสมอภาค

 

[1] https://www.iata.org/en/%20pressroom/pr/2020-07-28-02

[2] https://www.adb.org/publications/reviving-tourism-amid-covid-19-pandemic

[3] https://www.e-unwto.org/doi/pdf/10.18111/9789284421152

[4] https://www.iata.org/en/iata-repository/publications/economic-reports/air-passenger-monthly-analysis---may-2020/

[5] https://www.iata.org/en/iata-repository/publications/economic-reports/air-passenger-monthly-analysis---august-2020/

[6] https://www.imf.org/external/pubs/ft/bop/2007/bopman6.htm

4 ก.พ. 2564   3662  
ข้อเสนอแนะ
ติดตามเรา