จีนจะช่วยลอนดอนแก้ไขวิกฤตมลพิษทางอากาศได้อย่างไร

จีนจะช่วยลอนดอนแก้ไขวิกฤตมลพิษทางอากาศได้อย่างไร

กรุงลอนดอนสามารถเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือมากกว่าเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศจากเอสโตเนีย ซูริก และแม้แต่กรุงปักกิ่ง

กรุงลอนดอนสามารถเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือมากกว่าเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศจากเอสโตเนีย ซูริก และแม้แต่กรุงปักกิ่ง

ปัญหามลพิษทางอากาศก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งปอด และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ มากมาย และอากาศในสหราชอาณาจักรเองก็ไม่สะอาด เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการรัฐสภาได้เรียกสถานะของอากาศบ้านเราว่า ภาวะฉุกเฉินระดับชาติ

เมื่อเป็นเรื่องการทำอากาศให้สะอาด เรามีหลายสิ่งที่เรียนรู้ได้จากทั่วโลก แม้แต่ประเทศจีน

หลังจากที่ต้องเผชิญกับอากาศเป็นพิษมานานหลายปี ในที่สุดประเทศจีนก็ทำความสะอาดอากาศได้อย่างจริงจัง ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า เมืองที่มีมลพิษสูงที่สุด 10 เมืองจากจำนวน 20 เมืองของโลกตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย และมี 3 เมืองอยู่ในประเทศจีน แต่ประเทศจีนเป็นประเทศที่เริ่มจัดการกับปัญหานี้ โดยในกรุงปักกิ่งนั้น ค่าปรับสำหรับการก่อมลพิษสูงถึง 28 ล้านดอลลาร์ในปี 2558 ซึ่งในพื้นที่ของปักกิ่ง - เทียนจิน - เหอเป่ย ระดับ PM2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ได้ลดลง 27% ระหว่างปี 2556 - 2559 ฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อร่ายกายเนื่องจากเมื่อสูดดมเข้าไปแล้วจะสามารถเข้าไปในส่วนที่ลึกที่สุดของปอดได้

นายแกรี่ ฮาค นักวิจัยด้านมลพิษทางอากาศ จากสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม ณ มหาวิทยาลัยยอร์ก กล่าวว่า “ประเทศจีนพยายามผลักดันให้ยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และหันไปใช้พลังงานทางเลือกอื่น ๆ มากขึ้น รวมถึงการเลิกใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงแบบเผาไหม้จากเครื่องยนต์ เปลี่ยนไปเป็นยานพาหนะไฟฟ้า มันเป็นสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากจีน”

นอกจากนี้ จีนยังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) สูงที่สุดในโลก โดยในปี 2560 ประเทศจีนมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ได้กว่า 777,000 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 53% ทำให้จีนครองส่วนแบ่งการตลาดประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินอยู่ที่ 1.2 ล้านคันทั่วโลกในปี 2560 อีกทั้งภายในปี 2568 จีนมีแผนที่จะเพิ่มยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 35 ล้านคัน

สิ่งเดียวกันนี้ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะในกรุงลอนดอน ซึ่งเมืองหลวงแห่งนี้ตามหลังเมืองอื่น ๆ อีกหลายเมืองเมื่อเป็นเรื่องของมลพิษทางอากาศ งานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า กรุงลอนดอนนับเป็นเมืองหลวงที่คุณภาพอากาศที่แย่ที่สุดเป็นอันดับ 3 จากจำนวนเมืองหลวงทั้งหมดในทวีปยุโรป ส่วนเมืองที่คุณภาพอากาศสะอาดที่สุดของยุโรปคือ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก  รองลงมาคือกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ และนครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

รัฐบาลสหราชอาณาจักรเองก็มีแผน เป็นแผนอากาศสะอาด ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นสัปดาห์นี้ แต่ก็เป็นที่ถกเถียงกันว่าจะใช้ได้ผลหรือไม่ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคแรงงาน ซึ่งเรียกยุทธศาสตร์นี้ว่า  “น่าผิดหวังอย่างมาก” และคนอื่นก็บอกว่ามันจัดการกับจุดกำเนิดหลัก ๆ ของอากาศที่เป็นพิษในเมืองของเราได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นั่นก็คือรถเครื่องยนต์ดีเซลนั่นเอง

นายแกรี่ ฮาค กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นเรื่องของวิธีทำความสะอาดอากาศของเราแล้ว มันไม่ได้เรียบง่ายเหมือนเป็นการนำเอาเส้นทางสู่ความสำเร็จของเมืองอื่นมา คัดลอกและวาง”  “โดยแต่ละเมืองมีความแตกต่างกันในด้านภูมิศาสตร์ ประชากร โครงสร้างพื้นฐาน อุตุนิยมวิทยา แหล่งกำเนิดมลพิษ และการตรวจสอบคุณภาพอากาศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงปัจจัยบางส่วนที่มีอิทธิพลต่อความเข้าใจของเราเกี่ยวกับสถานะคุณภาพอากาศในเมืองหนึ่ง ๆ”

แหล่งกำเนิดมลพิษหลักในกรุงลอนดอน คือ การขนส่ง กล่าวคือ ยานพาหนะที่อัดแน่นกันอยู่บนท้องถนนส่งผลให้ระดับมลพิษสูงขึ้น การขนส่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และฝุ่นละอองเกิดจากการเผาไหม้ของไม้และถ่านหิน

วิธีหนึ่งในการลดปริมาณมลพิษทางอากาศในกรุงลอนดอนคือ การลดต้นทุนการขนส่งสาธารณะเพื่อลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนนในเมืองของเรา นี่คือสิ่งที่ประเทศเอสโตเนียเองก็กำลังตรวจสอบอยู่ ซึ่งมีการทดลองใช้ระบบขนส่งสาธารณะฟรีทั่วประเทศสำหรับคนในท้องถิ่นในปี 2560 เป็นต้นมา

ส่วนนครซูริคได้วางแผนงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดมลพิษทางอากาศ กลยุทธ์ดังกล่าวรวมถึงมาตรฐานที่เข้มงวดสำหรับการใช้ยานพาหนะใหม่ การติดตั้งตัวกรองอากาศในยานพาหนะทุกประเภทที่เป็นรุ่นไม่เกินปี ค.ศ. 2010 การเพิ่มอัตราการค่าจอดในเมืองให้สูงขึ้น และการเปลี่ยนไปใช้รถรางสาธารณะ รถราง และรถประจำทางแทน

นายซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนได้เสนอให้มีวันปลอดรถยนต์ ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสได้ทดลองใช้ แต่สุดท้ายยังไม่มีการตกลงกันแต่อย่างใด

นายเฮคกล่าวว่า การเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยกรุงลอนดอนได้ ซึ่งการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเดินและการขี่จักรยาน การห้ามรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สันดาปโดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่แชร์เส้นทางร่วมกัน และการพิจารณาการขนส่งสินค้าไปยังร้านค้า ล้วนเป็นแนวคิดที่ดี  และกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม มันก็ขึ้นอยู่กับการเมือง

นอกจากนี้ นายเฮคยังกล่าวอีกว่า “เรามีวิธีแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศของเรา เราเพียงแค่ต้องนำวิธีการเหล่านั้นไปดำเนินการ แต่มันก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงความคิดของบรรดานักการเมืองและประชาชน ซึ่งเราต้องคิดว่า เราจะเดินทางกันอย่างไร หากเราจะปรับปรุงคุณภาพอากาศที่เราใช้หายใจกันอยู่ในเมืองต่าง ๆ”

ผศ. เจนนี ฟิชเชอร์ จากมหาวิทยาลัยวูลลองกองในออสเตรเลียกล่าวว่า “เราต้องคิดถึงประเทศโดยรวมด้วย  เนื่องจากมลพิษในเมืองหนึ่ง ๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในพื้นที่แห่งนั้นเท่านั้น ซึ่งทั้งแหล่งมลพิษที่มาจากในพื้นที่นั่นก็คือมลพิษที่ถูกปล่อยจากในเมือง และแหล่งมลพิษที่ถูกนำมาจากภายนอก นั่นก็คือมลพิษซึ่งปล่อยมาจากที่อื่น ก็เป็นเรื่องสำคัญ

“ถ้าเราคิดถึงแค่เมืองเมืองหนึ่ง องค์ประกอบที่ถูกนำมาจากภายนอกจะน้อยกว่าองค์ประกอบจากในพื้นที่เสมอ ที่จริงแล้วเราไม่สามารถ ‘โทษ’ พื้นที่ต้นทางสำหรับปัญหามลพิษในระดับเมืองได้ แต่องค์ประกอบที่ถูกนำมาจากภายนอกสามารถซ้ำเติมให้ปัญหาแย่ลง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งนี้กลายเป็นสิ่งสำคัญเมื่อนึกถึงการปฏิบัติตามความต้องการด้านกฎระเบียบ” ยกตัวอย่าง เช่น ชายฝั่งทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้รับอิทธิพลจากมลพิษที่ปล่อยออกมาจากเอเชีย

พูดง่าย ๆ ว่า มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งรายงานของยูนิเซฟเมื่อเดือนธันวาคมปี 2560 ระบุว่า พบทารก 17 ล้านคนที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานสากลถึง 6 เท่า

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความหวังอยู่บ้างเมื่อเป็นเรื่องของ เพราะมลพิษทางอากาศซึ่งสามารถแก้ไขได้มากกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผศ.ฟิชเชอร์ กล่าวว่า “ในฐานะคนที่มองปัญหามลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉันบอกได้เลยว่า มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่สามารถจัดการได้มากกว่า ถ้าคุณสามารถเสกให้รถทุกคันหายไปจากกรุงลอนดอนได้ ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว”

มลพิษส่วนใหญ่จะหมดไปจากชั้นบรรยากาศภายใน 2 - 3 สัปดาห์ และบ่อยครั้งที่มันถูกลมและฝนพัดพาชะล้างไปจากเมืองได้เร็วกว่า แต่ผลกระทบต่อสุขภาพของมลพิษนั้นจะมีมากขึ้นในระยะยาว ซึ่งหมายความว่า สุขภาพของใครบางคนในอนาคตจะได้รับผลกระทบจากการที่ได้สัมผัสกับมลพิษในอดีต ก่อนที่ปัญหาจะได้รับการแก้ไขนั่นเอง

17 ก.พ. 2564   1495  
ข้อเสนอแนะ
ติดตามเรา