ผู้แทนสำนักงานการต่างประเทศ สำนักการระบายน้ำ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักพัฒนาสังคม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมเสวนาออนไลน์ หัวข้อ“การจัดการปัญหาน้ำท่วมในกลุ่มเปราะบางในกรุงเทพมหานคร”
ผู้แทนสำนักงานการต่างประเทศ สำนักการระบายน้ำ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักพัฒนาสังคม พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้าร่วมการเสวนาออนไลน์ หัวข้อ“การจัดการปัญหาน้ำท่วมในกลุ่มเปราะบางในกรุงเทพมหานคร” เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (DSS) ที่รวมถึงการเตรียมรับมือเหตุการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร การพัฒนาระบบเตือนภัย และการสื่อสารที่สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะกลุ่ม
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 นายจารุพงศ์ เพ็งเกลี้ยง ผู้อำนวยการส่วนแผนงานและส่งเสริมศักยภาพของเมือง สำนักงานการต่างประเทศและผู้แทนจากหน่วยงานกรุงเทพมหานครที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำท่วมในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ สำนักการระบายน้ำ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักพัฒนาสังคม พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้าร่วมการเสวนาออนไลน์ หัวข้อ“การจัดการปัญหาน้ำท่วมในกลุ่มเปราะบางในกรุงเทพมหานคร” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการจัดการน้ำท่วม เพื่อให้สามารถช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางดังกล่าวได้ทันท่วงที และเหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกิจกรรมระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการน้ำท่วม (Decision Support System for Flood Management) ภายใต้โครงการความร่วมมือ Global Future Cities (GFC) ภายใต้การดำเนินโครงการดังกล่าว รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้มอบหมายให้บริษัท มอทท์ แมคโดนัลด์ จำกัด (Mott Macdonald) เป็นบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินกิจกรรมฯ โดยในการดำเนินกิจกรรมจึงกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยหารือและขอความคิดเห็นจากภาครัฐทั้งส่วนกลาง และกรุงเทพมหานคร
|
|
ในโอกาสดังกล่าว นางสาวณิศนีย์ ชัยประกอบวิริยะ GESI Advisor ได้อธิบายความหมายของ “ความเท่าเทียมทางเพศ” ซึ่งหมายถึงสิทธิ์เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาส และ “การนับรวมทางสังคม” ซึ่งหมายถึงกระบวนการขจัดอุปสรรคเชิงโครงสร้างและเพิ่มโอกาสทางการพัฒนาในกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียม ทั้งนี้ ได้กำหนดกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเป้าหมายที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศและการนับรวมทางสังคม เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ คนจนในเมืองและผู้หญิง สำหรับประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในเหตุการณ์น้ำท่วม ได้แก่ เศรษฐกิจ การสูญเสียรายได้ การเข้าถึงบริการสุขภาพ และอุปสรรคในการเข้าถึงความช่วยเหลือ ตัวอย่างเช่น หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ประชาชนในชุมชนแออัดอาจได้รับผลกระทบทั้งการสูญเสียรายได้หรือการเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อเดินทางไปประกอบอาชีพ และต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐบาล ซึ่งภาครัฐบาลควรส่งเสริมการช่วยเหลือที่สร้างการพึ่งพาตนเองในระยะยาวได้ ซึ่งนางธีรวรรณ บุญรอด ผู้อำนวยการส่วนกิจการผู้สูงอายุและคนพิการ สำนักงานสวัสดิการสังคม สำนักพัฒนาสังคม ได้เสนอแนะให้จัดทำแผนเฉพาะกลุ่มเปราะบางแต่ละกลุ่ม โดยระบุแนวทางความช่วยเหลือตามความต้องการเฉพาะกลุ่ม พร้อมทั้งส่งเสริมให้กลุ่มเปราะบางได้รับความรู้เพื่อการช่วยเหลือตนเอง และส่งเสริมการบูรณาการทุกภาคส่วน
ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการเตือนภัยน้ำท่วมสำหรับกลุ่มเปราะบางในกรุงเทพมหานคร จึงจำเป็นต้องกำหนด “กลไกและนโยบาย”ในการเตือนภัยน้ำท่วม ซึ่งผู้แทนกรุงเทพมหานครได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
นายปวริศ มีบางไทร นักวิชาการสถิติชำนาญการ สำนักการระบายน้ำแจ้งว่า การแจ้งเตือนจะส่งข้อมูลผ่านไปทางสำนักงานเขตและช่องทางออนไลน์ ซึ่งกลุ่มคนพิการอาจประสบปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีและไม่ได้รับข่าวสาร ด้านผู้แทนสำนักพัฒนาสังคม แจ้งว่า กรุงเทพมหานครยังไม่มีกลไกสำหรับการเตือนภัยน้ำท่วมหรือโรคระบาด และเสนอแนะให้กำหนดขั้นตอนและวิธีการสำหรับการเตือนภัยที่สามารถทำให้คนกรุงเทพฯทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นพลเมืองกรุงเทพฯ ด้านนายวรพันธ์ ต้องใจ นักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเสนอแนะให้บูรณาการภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อทำระบบการเตือนภัยที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอให้จัดทำสายด่วนให้สามารถติดต่อแจ้งข้อมูลได้
ในตอนท้าย นายนที ทองจันทร์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาเมือง โครงการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้กล่าวปิดการเสวนาและกล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่ได้รับในวันนี้จะเป็นประโยชน์ในการจัดทำระบบการเตือนภัยน้ำท่วมที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเปราะบาง โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีบูรณาการทุกภาคส่วนให้เหมาะสมกับบริบท