ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายจิรัฎฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล และสำนักงานการต่างประเทศ ประชุมหารือร่วมกับดร. แคทรียา ปทุมรส ผู้อํานวยการกองกิจการเพื่อการพัฒนา กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สพ.ญ.ดร. อังคณา เลขะกุล นักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข และดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Centre for SDG Research and Support: SDG Move) เพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือของกรุงเทพมหานครกับคู่ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ (Strategic partner) ในการมีส่วนร่วมจัดทำรายงานการทบทวนระดับท้องถิ่นโดยสมัครใจเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG Voluntary Local Review (VLR) ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานแบบ “ล่างสู่บน” ที่มุ่งขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ให้เป็นจริงได้มากขึ้น อันจะนำมาซึ่งการส่งเสริมบทบาทที่โดดเด่นด้านการต่างประเทศและภาพลักษณ์ที่ดีของกรุงเทพมหานครในระดับนานาชาติ
ในการนี้ ดร. แคทรียา ปทุมรส ผู้อํานวยการกองกิจการเพื่อการพัฒนา ได้อธิบายความสำคัญของ SDG VLR ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (United Nation) สนับสนุนให้เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกจัดทำ SDG VLR ทั้งในระดับชุมชนและท้องถิ่น อันจะสะท้อนให้เห็นถึงการนําเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ไปปฏิบัติในระดับพื้นที่ ท้องถิ่น และชุมชนอย่างแท้จริง หรือที่เรียกว่า “Localizing SDGs” ทั้งนี้ เมืองใหญ่ทั่วโลกกว่า 70 เมือง ได้จัดทำ SDG VLR แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ขององค์การสหประชาชาติ อาทิ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น กระทรวงการต่างประเทศจึงสนับสนุนให้จังหวัดต่าง ๆ ของประเทศเริ่มจัดทำ SDG VLR โดยจังหวัดที่ได้ริเริ่มแล้ว ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดนครราชสีมา แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น กระทรวงฯ จึงเห็นว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการจัดทำ SDG VLR เช่นกัน โดยการจัดทำ SDG VLR ของกรุงเทพมหานครนอกจากจะช่วยหนุนเสริมภาพลักษณ์ของเมืองในระดับนานาชาติแล้ว ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้ของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครต่อการพัฒนาเมืองอีกด้วย สำหรับการทำรายงาน SDG VLR ไม่มีรูปแบบการรายงานที่ตายตัว มีเพียงแนวทางการจัดทำรายงานจึงมีความยืดหยุ่น ะบบประเมินคุณภาพของรายงาน กรุงเทพมหานครสามารถดูตัวอย่างรายงานของเมืองต่าง ๆ และนำมาประยุกต์เป็นแนวทางจัดทำ SDG VLR ที่สอดคล้องกับกรุงเทพมหานครได้ สำหรับการกำหนดตัวชี้วัดไม่จำเป็นต้องตอบตัวชี้วัดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งหมด สามารถเลือกกำหนดประเด็นที่กรุงเทพมหานครต้องการเน้นย้ำ อีกทั้งยังเสนอว่า หากกรุงเทพมหานครจัดทำเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 นายกรัฐมนตรีสามารถจะนำเสนอผลการดำเนินการจัดทำ SDG VLR ของกรุงเทพมหานครในที่ประชุม 2023 SDG Summit ซึ่งคาดว่าจะจัดในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566ได้
สอดคล้องกับสพ.ญ.ดร. อังคณา เลขะกุล ได้ยกกรณีการจัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report: SDR) รวมถึงดัชนี SDG และแดชบอร์ด (SDG Index and Dashboards) ประจำปี ค.ศ. 2021 ซึ่งเป็นความร่วมมือของเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) ได้แก่ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ทั้งนี้ ได้เสนอให้กรุงเทพมหานครทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และดึงให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดทำ SDG VLR โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในพื้นที่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง สำหรับการทำ SDG VLR สามารถกำหนดหัวข้อ (theme) ของรายงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองโดยตรงหรือมาตรการที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องจัดทำตามตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Indicators) และอาจกำหนดตัวชี้วัดที่สอดรับกับบริบทของกรุงเทพมหานครเอง โดยการทำ SDG VLR จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและงบประมาณของกรุงเทพมหานครในอนาคต เช่นเดียวกับดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี เห็นว่า การจัดทำ SDG VLR จะช่วยประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมืองของกรุงเทพมหานครตามมาตรฐานสากล โดยสามารถนำมาข้อมูลที่ได้เป็นแนวทางการพัฒนาเมืองในอนาคตหรือจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (policy recommendation)
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาแนวทางการจัดทำSDG VLR ของมหานครนิวยอร์ก และให้เชื่อมโยงระหว่างแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ฉบับปรับปรุง กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ในแต่ละด้าน และนำเป้าหมายเพื่อวัดผลความสำเร็จ (OKR) ของกรุงเทพมหานครมาประเมิน นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดกรอบเวลา (timeline) และเค้าโครง (outline) พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานของกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายเพื่อดำเนินการจัดทำ SDG VLR โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือคู่ความร่วมมือหลัก
เพื่อการเตรียมจัดทำรายงานการทบทวนระดับท้องถิ่น
โดยสมัครใจเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Voluntary Local Review: VLR)
กรุงเทพมหานครประชุมหารือคู่ความร่วมมือหลัก เพื่อการเตรียมจัดทำรายงานการทบทวนระดับท้องถิ่น โดยสมัครใจเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Voluntary Local Review: VLR)