ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (European Investment Bank) นำเสนอ City Climate Finance Gap Fund

ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (European Investment Bank) นำเสนอ City Climate Finance Gap Fund

11 ต.ค. 2565   328  

สรุปการประชุมหารือระหว่างผู้แทนกรุงเทพมหานครกับผู้แทนจากธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป

เรื่อง สินเชื่อเงินกู้ City Climate Finance Gap Fund

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.00 น.

ณ ห้องประชุมสำนักงานการต่างประเทศ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.30 – 15.30 น. Mr. Tao Ren, Senior Officer, Lending Operations in Asia/Pacific ในฐานะผู้แทนจากธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (European Investment Bank: EIB) ได้หารือกับผู้แทนกรุงเทพมหานครจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร สำนักการคลัง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานการต่างประเทศ ในประเด็นความเป็นไปได้ในการให้เงินกู้เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ EIB เป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบพหุภาคี (Multilateral Climate Financer) ที่ใหญ่ที่สุด

Mr. Tao Ren ผู้แทนจาก EIB แจ้งว่า ได้รับคำแนะนำจากกระทรวงการคลังให้หารือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการดำเนินความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาเมืองและสินเชื่อโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและการขนส่ง เนื่องจาก EIB ได้พบกับกระทรวงการคลังก่อนหน้านี้ และทราบเบื้องต้นว่ากรุงเทพมหานครสามารถกู้เงินเพื่อพัฒนาเมืองได้ ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ผู้แทนจากสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานครและสำนักการคลังได้แจ้งว่า สามารถกู้เงินได้จริง อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วกรุงเทพมหานครใช้งบประมาณสมดุล และมีแหล่งรายได้จากภาษีเงินได้ และงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ประกอบกับการพิจารณาการกู้เงินนั้น ต้องผ่านการพิจารณาจากผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และพิจารณาความจำเป็น รวมถึงความคุ้มค่าในการลงทุนเป็นรายกรณี

ผู้แทน EIB รับทราบและแจ้งว่า เข้าใจกระบวนการดำเนินการของกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ดี ขอฝากให้พิจารณาสินเชื่อจาก EIB เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการดำเนินการโครงการด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำท่วม การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ กทม.

รายละเอียดเกี่ยวกับ City Climate Finance Gap Fund (Gap Fund)

The City Climate Finance Gap Fund หรือ Gap Fund คือกองทุนที่จะเข้ามาให้การสนับสนุนความช่วยเหลือทางเทคนิคเบื้องต้นสำหรับแผนการหรือโครงการที่เป็นโครงการเกี่ยวกับการลดปริมาณคาร์บอน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเมืองยืดหยุ่น เพื่อปิดช่องว่างทางการเงินในระยะเริ่มต้นของโครงการและขั้นตอนการเตรียมงาน โดย Gap Fund มี 3 เป้าหมายหลักดังต่อไปนี้

  1. ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างขีดความสามารถ
  2. สร้างแผนการลงทุนคุณภาพสูงสำหรับเมือง เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือด้านเทคนิคในระยะต่อไป
  3. แบ่งปันความรู้ในขั้นตอนการเตรียมโครงการกับนักพัฒนาและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน

เนื่องจากเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะเมืองในประเทศกำลังพัฒนา มักประสบปัญหาจากการขาดทักษะ เงินทุน และการสนับสนุนที่จำเป็นในระยะเริ่มต้นของการเตรียมโครงการการ โดย Gap Fund จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคสำหรับการวางแผนระยะเริ่มต้นและการเตรียมโครงการ นอกจากนี้ ยังสามารถให้ความช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ อุปกรณ์ และคำแนะนำใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาสีเขียวได้อีกด้วย

Gap Fund อาจไม่ได้สนับสนุนทุนในการดำเนินการและการสร้างโครงการโดยตรง แต่เป็นการเสริมความรู้ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการเข้าไป กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ Gap Fund จะเข้าไปสนับสนุนการสร้างรากฐานที่สำคัญและจำเป็นสำหรับโครงการต่าง ๆ โดยโครงการที่จะเข้าขอบเขตการให้การสนับสนุนของ Gap Fund มีหลักเกณฑ์ดังนี้

หลักเกณฑ์การขอการสนับสนุนจาก Gap Fund

  • ประเทศ: ประเทศในกลุ่มเป้าหมายคือประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
  • การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ: ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกและ/หรือมีการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
  • มิติเมือง: โครงการต้องตั้งอยู่ในหรือดำเนินการเชื่อมโยงกับเขตเมือง
  • กรรมสิทธิ์: ควรเป็นโครงการสำหรับเมือง การปกครองส่วนท้องถิ่น
  • ผู้สมัคร: ผู้สมัครจะต้องเป็นรัฐบาลท้องถิ่นหรือบริษัทที่สมัครในนามของรัฐ
  • ระดับขั้นตอนของโครงการ: โครงการต้องอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้น

ภาคส่วนที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุนจาก Gap Fund

  • การสัญจรในเมือง (Urban mobility)
  • ประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก (Energy efficiency and small renewable energy projects)
  • การบริหารจัดการขยะมูลฝอย (Solid waste management)
  • การบริหารจัดการน้ำและน้ำเสีย (Water and wastewater management)
  • การทำให้พื้นที่เมืองเป็นพื้นที่สีเขียวและการแก้ปัญหาโดยอิงธรรมชาติ (Greening of urban areas and nature-based solutions)
  • อาคารสีเขียว หรืออาคารอนุรักษ์พลังงาน (Green buildings)
  • การปรับตัวให้เข้ากับความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศ (Adaptation to climate vulnerabilities)
  • ที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่แพงพร้อมแนวคิดเรื่องประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน (Affordable housing with an energy-efficient approach)
  • โครงการร่วมกับหลายภาคส่วน โครงการการลงทุนเชิงพื้นที่ (Multisector, area-based investment programmes)

Gap Fund ริเริ่มโดยสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสมาพันธ์ผู้นำท้องถิ่นด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศโลก (GCoM) ร่วมกับพันธมิตรหลักอื่น ๆ โดย Gap Fund ทำงานโดยตรงกับกลุ่มเมืองและเครือข่าย เช่น GCoM, ICLEI, C40 และ CCFLA โดยเมืองต่าง ๆ หรือรัฐบาลท้องถิ่นสามารถขอรับการสนับสนุนผ่านเว็บไซต์ของ Gap Fund ได้ โดยโครงการที่ได้รับเลือกจะได้รับความช่วยเหลือด้านเทคนิคจากพันธมิตรของ Gap Fund โดยพิจารณาความเหมาะสมของการช่วยเหลือตามประเภทของงาน ความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง และความพร้อมของผู้เชี่ยวชาญ

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสมัครสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์ของ Gap Fund โดยช่องทางคำถามที่พบบ่อย FAQ (Frequently Asked Questions) โดยสามารถอ่านข้อมูลคำถามที่พบบ่อย
ได้จากช่องทางนี้ หรือสอบถามโดยตรงกับผู้จัดการ Gap Fund ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป
ผ่านแบบฟอร์มการติดต่อ “Get in touch” บนเว็บไซต์ของ Gap Fund เช่นเดียวกัน

ข้อเสนอแนะ
ติดตามเรา