คณะอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเข้าศึกษาดูงานด้านการต่างประเทศ
ณ กรุงเทพมหานคร
(15 ก.ย. 66) คณะอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเข้าศึกษาดูงานด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2566 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
(15 ก.ย. 66) คณะอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเข้าศึกษาดูงานด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2566 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาอุษาคเนย์ศึกษา (Southeast Asian Studies) ภาควิชาการศึกษาทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการ ด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานคร ในฐานะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษ
ในการนี้ นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษา พร้อมกล่าวถึงความสำคัญของงานด้านการต่างประเทศในการพัฒนาและบริหารจัดการเมือง โดยได้ยกตัวอย่างโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งริเริ่มจากการเข้าร่วมเครือข่ายกติกาสัญญานโยบายอาหารในเมืองมิลาน (Milan Uban Food Policy Pact : MUFPP) และโครงการความร่วมมือระดับเมืองและระดับภูมิภาคระหว่างประเทศ (International Uban and Regional Cooperation : IURC) ในการขับเคลื่อนนโยบายอาหารจำนวน 6 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการ อาหารและโภชนาการที่ยั่งยืน ความเสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจ การผลิตอาหาร การจัดหาและการกระจายอาหาร และขยะอาหาร ซึ่งครอบคลุมทั้งการจัดการอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) และการบริจาคอาหาร (Food Donation) โดยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการในรูปแบบ Sandbox ในพื้นที่ ๒ เขต ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์และเขตห้วยขวาง และจะขยายให้ครบ 50 เขตภายในปีพ.ศ. 2567 รวมทั้งกรุงเทพมหานครได้จัดทำยุทธศาสตร์ด้านอาหารในกรุงเทพมหานครตามกรอบกติกาสัญญานโยบายอาหารในเมืองมิลานอีกด้วย โครงการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการนำองค์ความรู้จากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเมือง (Knowledge Transfer) อย่างแท้จริง
จากนั้น สำนักงานการต่างประเทศ โดยนายพิพล กระบวนรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเมือง บรรยายหัวข้อการดำเนินงานด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวถึงความสำคัญของกรุงเทพมหานครและการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร การดำเนินภารกิจด้านการต่างประเทศผ่านความร่วมมือเมืองพี่เมืองน้องและองค์การระหว่างประเทศ/เครือข่ายนานาชาติ ความเชื่อมโยงระหว่างงานด้านการต่างประเทศ แผนการพัฒนากรุงเทพมหานครฯ และนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงบทบาทและความท้าทายของกรุงเทพมหานครในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกรอบความร่วมมืออาเซียน
ภายหลังจากการบรรยาย นักศึกษาได้ให้ความสนใจและสอบถามผู้แทนสำนักงานการต่างประเทศในหลายประเด็น อาทิ การดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศกับประเทศ/เมืองที่มีความขัดแย้ง นโยบายด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานครเชิงเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ ความร่วมมือระหว่างเมือง/ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลกระทบและแนวทางการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองต่อการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้าน กรณีการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงประเทศลาว-จีน เป็นต้น