นายมาร์ติน ชนีคล็อธ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งเดนมาร์ก ประชุมหารือกับที่ปรึกษาของผู้ว่า-ราชการกรุงเทพมหานคร (นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์) และเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) และการจัดการขยะ พร้อมทั้งนำเสนอโครงการความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศไทยและราชอาณาจักรเดนมาร์กเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการขยะ (30 ม.ค. 67)
นายมาร์ติน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนกล่าวว่า จากการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นที่มีความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและราชอาณาจักรเดนมาร์ก พบว่า มี 3 ประเด็นที่สามารถดำเนินการได้ ประกอบด้วย การสนับสนุนการดำเนินการการนิยามปฏิบัติการ (Operationalization) ในการร่างกฏหมายที่เน้นการขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Extended Producer Responsibility: EPR) การปรับปรุงการแยกขยะในครัวเรือนผ่านโครงการนำร่องการแยกขยะครัวเรือนในอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร รวมถึงยังมุ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของกรุงเทพมหานครไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียนดังนั้น จึงได้จัดทำร่างโครงการความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศไทยและราชอาณาจักรเดนมาร์กเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการขยะ มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ในช่วงกลางปี 2567 จนถึงกลางปี 2570 โดยมีหุ้นส่วนที่สำคัญจากประเทศไทย ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIMPSE) กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร สำหรับผลลัพธ์จากการดำเนินการภายใต้โครงการความร่วมมือ ประกอบด้วย 1) การพัฒนาแนวคิดและนโยบายการบริหารจัดการขยะและเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับชาติ 2) การบริหารจัดการขยะในเมืองและในชนบทอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมุ่งสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะของเทศบาล ในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน การยกระดับการคัดแยกขยะครัวเรือนในพื้นที่ประชากรหนาแน่นในกรุงเทพมหานคร
นายพรพรหมฯ กล่าวว่า การคัดแยกขยะมูลฝอยในครัวเรือนในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นในกรุงเทพฯ ที่ยังมีปัญหาคือการคัดแยกขยะในอาคารสูง อาทิ คอนโดมีเนียม เนื่องจากยังไม่มีตัวกลางที่จะสามารถสื่อสารและขับเคลื่อนนโยบายการคัดแยกขยะได้ นอกจากนั้น ในส่วนของที่พักอาศัยภายใต้การดูแลของการเคหะแห่งชาติยังประสบปัญหาการขาดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการแยกขยะครัวเรือน นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังไม่สามารถใช้วิธีปฏิเสธการเก็บขยะของผู้ที่ไม่แยกขยะได้ เนื่องจากขัดต่อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้วิธีสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะแทน อาทิ การลดค่าธรรมเนียมในการเก็บขนขยะสำหรับผู้ที่แยกขยะครบถ้วน ทั้งนี้ ได้แสดงความสนใจต่อการดำเนินโครงการนำร่องการคัดแยกขยะในอาคารสูง โดยสามารถประสานกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความสนใจการคัดแยกขยะเข้าร่วมดำเนินโครงการนำร่องดังกล่าว โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับโครงการที่มีอยู่ และเสนอแนวทางการสร้างแรงจูงในการคัดแยกขยะเพื่อสนับสนุนการจัดทำแนวปฏิบัติในการคัดแยกขยะระดับชาติ รวมทั้งระบุปัญหาการบริหารจัดการที่พบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งเดนมาร์ก ประชุมหารือกับที่ปรึกษาของผู้ว่า-ราชการกรุงเทพมหานคร (นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์)
กรุงเทพมหานคร ประชุมหารือกำหนดแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือภาคยุทธศาสตร์ในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการขยะระหว่างไทย-เดนมาร์ก