กทม. นำผู้แทนพิเศษยูเอ็นฯ ด้านความปลอดภัยทางถนน ชมผลงานโรงเรียนติดดาว ความสำเร็จของโครงการ “เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม”
(6 พ.ย. 67) เวลา 16.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ นายฌอง ทอดต์ (Mr. Jean Todt) ผู้แทนพิเศษยูเอ็นฯ ด้านความปลอดภัยทางถนน ในโอกาสเยี่ยมชมศึกษาดูงานกิจกรรมโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนของกรุงเทพมหานคร (Road Safety Culture School) ปี 2 ภายใต้โครงการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ คณะครูและนักเรียนโรงเรียนฉิมพลี ร่วมคณะ ณ โรงเรียนฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ บรรยายสรุปผลภาพรวมของโครงการ “เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม” ให้ นายฌอง ทอดต์ ฟังว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร หรือ ศปถ.กทม. ที่ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เป็นผู้รับผิดชอบ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยการผนึกกำลังร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนเขต (ศปถ.เขต) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาบนท้องถนนของกรุงเทพมหานครในเชิงรุก เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือของประชาชน เยาวชน ที่ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขให้เป็นไปตามนโยบาย “เดินทางดี” “ปลอดภัยดี” โดย ศปถ.กทม. ได้กำหนดแผนดำเนินการในแต่ละปี ให้ดำเนินกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการณรงค์และสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการลดอุบัติเหตุ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างวิถีใหม่ในการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมทั้งกำหนด “BMA 6 GAME CHANGER” ที่ครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการ ศปถ.กทม. การผนึกกำลังภาคีเครือข่ายระดับประเทศ การผนึกกลไก กทม. ระดับเขต ลดอุบัติเหตุเชิงรุก รวมทั้งการผนึกกำลังร่วมกับชุมชน และสร้างความตระหนักรู้แก่กลุ่มเป้าหมายในการรณรงค์ถนนปลอดภัย ตลอดจนการเสริมสร้างความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
ซึ่ง โครงการ “เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม” เป็น 1 ใน 6 GAME CHANGER ด้วย โดยโครงการ “เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม” เป็นกิจกรรมโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนของกรุงเทพมหานคร (Road Safety Culture School) จัดขึ้นเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกส่งเสริมการสร้างระเบียบ กวดขันวินัยจราจรอย่างเข้มงวด ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยปีที่ผ่านมามีเป้าหมายและจุดเน้น คือการสร้าง “เยาวชนต้นแบบ” และผู้ริเริ่ม “รักษ์วินัยจราจร” ที่จะเป็นกำลังสำคัญของกรุงเทพมหานคร โดยเป็นผู้นำเปลี่ยนพฤติกรรมรักษ์วินัยจราจรจากตนเองไปยังกลุ่มเพื่อน และผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง สมาชิกอื่น ๆ บนท้องถนน รวมถึงโรงเรียนในสังกัด กทม. ซึ่งในปีนี้ได้ต่อยอดความสำเร็จจากเยาวชนสู่ครูและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน เพื่อเป็นครูผู้พิทักษ์และ “โรงเรียนนำร่อง” ในการสร้าง “วัฒนธรรมองค์กร” ด้านการรักษ์วินัยจราจร เพื่อขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนต่อไป โดยได้คัดเลือกโรงเรียน จำนวน 20 โรงเรียน จาก 6 กลุ่มเขต กลุ่มเขตละประมาณ 3 โรงเรียน พร้อมทั้งคัดเลือกคุณครูเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนละ 2 คน โดยมีการให้โจทย์แต่ละโรงเรียนไปคิดโครงงานที่สะท้อนถึงความยั่งยืนในการดำเนินโครงการ ซึ่งพบว่าทุกโรงเรียนมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงและทำผลงานออกมาได้ดี ที่สำคัญในการจัดกิจกรรมแต่ละปี กทม. มักจะได้รับไอเดียใหม่ ๆ จากโครงงานที่โรงเรียนนำเสนอ เช่น การดำเนินงานในปีที่ 1 มีศูนย์การเรียนรู้เกิดขึ้นในโรงเรียน มีกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตามกฏจราจร และเป็นสิ่งที่ได้ผลดี ทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ยั่งยืน และยังเป็นต้นแบบให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปีที่ 2 ได้เข้าไปศึกษา เรียนรู้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่โรงเรียนของตนเองด้วย และในปีที่ 2 ก็มีโครงงานที่โดดเด่นหลายโรงเรียน มีสวนจราจร มีช่องทางออนไลน์สำหรับให้ความรู้ ซึ่งถือว่าเป็นการต่อยอดที่สำคัญมาก
ทั้งนี้ ภายหลังฟังบรรยายสรุปภาพรวมโครงการแล้ว ผู้ว่าฯ ชัชชาติ และคณะผู้บริหาร กทม. ได้นำ นายฌอง ทอดต์ ชมการแก้ไขปัญหาทางกายภาพถนนบริเวณหน้าโรงเรียน และกิจกรรมเสริมสร้างวินัยจราจรของโรงเรียน รวมทั้ง “เมืองจราจรจำลอง” ที่ทำให้โรงเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศจากประกวดโครงการในปีนี้ พร้อมจำลองสถานการณ์การขับขี่อย่างปลอดภัยของนักเรียน จากนั้นพาชมจุดปรับปรุงแก้ไขปัญหากายภาพบริเวณหน้าโรงเรียนฉิมพลีด้วย
ภายหลังจากเยี่ยมชมโรงเรียน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพร้อมด้วยผู้แทนพิเศษยูเอ็นฯ ด้านความปลอดภัยทางถนน ได้ร่วมหารือถึงภารกิจร่วมกันด้านความปลอดภัยทางถนน (Road Safety) ซึ่งที่ผ่านมา กทม. ให้ความสำคัญมาตลอด โดยเฉพาะการบูรณาการกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมไปถึงองค์กรภายในและระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะช่วยยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนนของกรุงเทพฯ โดย กทม. พร้อมสนับสนุนรัฐบาลและสหประชาชาติอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ปี 2567 สถิติอุบัติเหตุของกรุงเทพฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากการที่ กทม. ให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง จุดอันตรายต่าง ๆ ควบคู่กับการผสานความร่วมมือเพื่อร่วมผนึกกำลังในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากทุกภาคส่วน ทั้ง ศปถ.กทม. ศปถ.เขต ภาคีเครือข่าย และความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน รวมถึงเยาวชน จึงได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ และสามารถชี้ได้ว่า กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่สามารถขับเคลื่อนและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างเป็นรูปธรรมแท้จริง
ข่าว : สปส.กทม.
(6 พ.ย. 67) เวลา 16.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ นายฌอง ทอดต์ (Mr. Jean Todt) ผู้แทนพิเศษยูเอ็นฯ ด้านความปลอดภัยทางถนน ในโอกาสเยี่ยมชมศึกษาดูงานกิจกรรมโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนของกรุงเทพมหานคร (Road Safety Culture School) ปี 2 ภายใต้โครงการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ คณะครูและนักเรียนโรงเรียนฉิมพลี ร่วมคณะ ณ โรงเรียนฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
กทม. นำผู้แทนพิเศษยูเอ็นฯ ด้านความปลอดภัยทางถนน ชมผลงานโรงเรียนติดดาว ความสำเร็จของโครงการ “เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม”