ประเทศญี่ปุ่นเตรียมการเพื่อเข้าสู่รัชสมัยใหม่ "เรวะ (令和 )"

ประเทศญี่ปุ่นเตรียมการเพื่อเข้าสู่รัชสมัยใหม่ "เรวะ (令和 )"

NULL

เป็นช่วงเวลาที่แสนยาวนานแห่งการรอคอย ในที่สุดรัฐบาลได้ประกาศชื่อรัชสมัยของญี่ปุ่นแล้วคือ "เรวะ (令和)"  เก็งโกใหม่ล่าสุด รัชสมัยใหม่ชื่อว่า "เรวะ (令和)" นายโยชิฮิเดะ ซูกะ (Yoshihide Suga) หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศชื่อรัชสมัยใหม่ (หรือในภาษาญี่ปุ่น เรียกว่าเก็งโก (元号)) คือ "เรวะ (令和)" ในการแถลงข่าวพร้อมกับชูป้ายอักษรคันจิดังกล่าว ชื่อรัชสมัยนี้มาจากมันโยชุ (万葉集) กวีนิพนธ์ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น จากข้อความตอนหนึ่งที่แปลได้ว่า "คืนเดือนหงายในต้นฤดูใบไม้ผลิ อากาศสดชื่น และลมสงบนิ่ง… ดอกบ๊วยกำลังเบ่งบานเปรียบดั่งสาวงามกำลังทาแป้งขาวอยู่ที่หน้ากระจก กลิ่นหอมของดอกไม้เปรียบเสมือนเสื้อคลุมที่หอมอบอวลด้วยกลิ่นของเครื่องหอม" เรวะ (令和) คือชื่อยุคสมัยที่ประกอบด้วยตัวอักษร เร (令) และตัวอักษร วะ (和) ซึ่งอักษรตัวนี้ได้ถูกนำมาใช้ตั้งชื่อ รัชสมัยมาแล้ว 19 ครั้ง ชื่อรัชสมัยที่มีอักษรตัวนี้ ได้แก่ โชวะ (昭和) และ วะโดะ (和銅) คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นคัดเลือกชื่อรัชสมัยนี้จากรายชื่อที่ถูกคิดค้นโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งไม่ได้รับการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงจากรัฐบาล นายชินโซะ อาเบะ (Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอธิบายกับนักข่าวถึงความหมายของชื่อรัชสมัยใหม่นี้และแรงบันดาลใจซึ่งเป็นที่มาของชื่อ เขากล่าวว่า "วัฒนธรรมได้รับการทะนุบำรุงเมื่อผู้คนหลอมรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว ในแนวทางที่งดงาม คำว่า "เรวะ (令和)" มีความหมายเช่นนั้น" เขากล่าวว่าชื่อนี้บ่งบอกถึงความหวังของชาวญี่ปุ่นทุกคนที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนมุ่งหวังดั่งดอกบ๊วยเบ่งบานหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวที่รุนแรง เขากล่าวว่า เขาหวังว่า ประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม และธรรมชาติของประเทศจะถูกส่งต่อสู่คนรุ่นหลังโดยการตั้งชื่อรัชสมัยใหม่นี้จากวรรณกรรมญี่ปุ่นโบราณ "เก็งโก (元号)" หมายถึงอะไร เก็งโก (元号) คือคำที่ใช้เรียกยุคจักรวรรดิที่ใช้กำหนดรูปแบบของปฏิทินญี่ปุ่น ซึ่งชาวญี่ปุ่นมักนิยมใช้ระบบนี้สลับกับปฏิทินตะวันตก เช่น ปี ค.ศ. 2019 เท่ากับปีเฮเซ 31 ซึ่งตัวเลขนี้ระบุจำนวนปีของรัชสมัยสมเด็จ-พระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน ในปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวกับเก็งโก (元号) เพียงสองข้อกำหนด ได้แก่ ชื่อรัชสมัยต้องมาจากมติคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นและการเปลี่ยนชื่อรัชสมัยจะเกิดขึ้นได้เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ทรงขึ้นครองราชย์เท่านั้น ชื่อรัชสมัยประกอบด้วยตัวอักษรคันจิสองตัว และต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนด ดังนี้ มีความหมายในเชิงบวกที่แสดงถึงอุดมการณ์ของชาติ อ่านและเขียนได้ง่าย ไม่เคยถูกใช้เป็นชื่อรัชสมัย หรือพระนามภายหลังจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใดมาก่อน และไม่ใช่คำ หรือวลีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนอกจากนี้ ญี่ปุ่นมักนิยมให้ตัวอักษรตัวแรกของชื่อรัชสมัยใหม่แตกต่างจากชื่อรัชสมัยที่ผ่านมา เช่น เมจิ (明治)      ไทโช (大正) โชวะ (昭和) หรือ เฮเซ (平成) เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนในการใช้ตัวย่อ เช่น H 31 หมายถึงรัชสมัย    เฮเซที่ 31 เป็นต้น รัชสมัยใหม่เริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างไร การเริ่มต้น และการสิ้นสุดของเก็งโก (元号) เกิดขึ้นตามเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เช่น เก็งโกเฮเซในปัจจุบันเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2532 (ค.ศ. 1989) หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ (Showa) และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2562 (ค.ศ. 2019) เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบันทรงสละราชสมบัติ ในเดือนสิงหาคม 2559 (ค.ศ. 2016) สมเด็จพระจักรพรรดิอะคิฮิโตะ (Akihito) ทรงประกาศสละราชสมบัติซึ่งทำให้ชาวญี่ปุ่นประหลาดใจเป็นอย่างมาก สมเด็จพระจักรพรรดิอะคิฮิโตะ (Akihito) ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ตอนนี้ข้าพเจ้าอายุ 80 ปีแล้ว และโชคดีที่ยังคงมีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม เมื่อข้าพเจ้าได้พิจารณาว่า ระดับความพร้อมของร่างกายของข้าพเจ้าลดลงเรื่อยๆข้าพเจ้าจึงกังวลว่าอาจจะกลายเป็นเรื่องยากที่ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าต่อไปในฐานะสัญลักษณ์ของรัฐ เหมือนที่ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติมาโดยตลอดจนกระทั่งตอนนี้" นี่เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 200 ปีที่สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นทรงสละพระราชบัลลังก์ในขณะทรงดำรงพระชนม์ชีพต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น พระราชพิธีสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอะคิฮิโตะ (Akihito) จะจัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน ณ พระราชวัง อิมพีเรียล สมเด็จพระจักรพรรดิจะพระราชทานพระราชดำรัสซึ่งเป็นการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสุดท้าย ของพระองค์ในฐานะสัญลักษณ์แห่งรัฐ ในวันต่อมา วันที่ 1 พฤษภาคม เจ้าชายนารุฮิโตะ (Naruhito) มงกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นจะทรงขึ้นครองราชย์และอีกสามวันต่อจากนั้น พระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จประทับบนพระระเบียงของพระราชวังจากนั้นสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ (Naruhito) พระราชทานพระราชดำรัสแก่ประชาชน

21 ก.ย. 2563   219  
ข้อเสนอแนะ
ติดตามเรา