นักศึกษาก Technical University Dortmund ศึกษาดูงานหัวข้อระบบและโครงสร้างพื้นฐานการจัดการน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครและการวางผังและพัฒนากรุงเทพมหานครและการผสมผสานการเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นักศึกษาก Technical University Dortmund ศึกษาดูงานหัวข้อระบบและโครงสร้างพื้นฐานการจัดการน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครและการวางผังและพัฒนากรุงเทพมหานครและการผสมผสานการเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3 มี.ค. 2565   286  

คณะนักศึกษาจาก Technical University Dortmund เข้าศึกษาดูงานในหัวข้อระบบและโครงสร้างพื้นฐานการจัดการน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครและการวางผังและพัฒนากรุงเทพมหานครและการผสมผสานการเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมนพพันธ์ สำนักการระบายน้ำ คณะนักศึกษาจาก Technical University Dortmund และผู้แทนจาก Deutsche Gesellschaft fur international Zusammenarbeit (GIZ) เข้ารับฟังการบรรยายและดูงานในหัวข้อ “ระบบและโครงสร้างพื้นฐานการจัดการน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครและเจาะลึกการวางผังและพัฒนากรุงเทพมหานคร” โดยผู้แทนสำนักการระบายน้ำ และ “การวางผังพัฒนาเมืองเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยผู้แทนจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง

ในการนี้ นางสุคนธา ศรีแก้วหล่อ หัวหน้ากลุ่มงานประเมินผลและมาตรฐานทางผังเมือง สํานักงานวางผังเมือง ได้บรรยายและตอบข้อซักถามเรื่องการวางผังพัฒนาเมืองเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้พิจารณากรอบแนวทางในระดับชาติ และระดับความร่วมมือระหว่างประเทศคือ แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptions Plan) และแผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556- 2566 ที่ได้รับความร่วมมือจากไจก้า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อบูรณาการเป็นการวางผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร (Bangkok Comprehensive Plan) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ซึ่งใช้บังคับเมื่อปี พ.ศ. 2556 และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ทั้งนี้ การวางผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานครกำหนดประเด็นครอบคลุมแผนผังจำนวน 6 แผนผัง ประกอบด้วย แผนผังกำหนดพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนผังที่โล่ง แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่ง แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐาน แผนผังน้ำ แผนผังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR: Floor Area Ratio) และประเด็นที่สำคัญต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือการบังคับใช้อัตราส่วนทางชีวภาพหรือพื้นที่น้ำซึมผ่านได้ (BAF: Biotope Area Factor) เพื่อส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้ยืนต้นและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในแปลงที่ดินทุกแปลงที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับจากประเทศเยอรมนี ในขณะที่จัดทำผังเมืองรวมในปี พ.ศ. 2554 และยังเป็นปีที่กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายถึงมาตรการจูงใจด้วยการส่งเสริมมาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR Bonus) สำหรับกรณีจัดหาหรือพัฒนาสิ่งต่อไปนี้  (1) การจัดให้มีที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาดเพื่อผู้มีรายได้น้อย หรือที่อยู่อาศัยสำหรับผู้อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่โครงการ (2) การจัดให้มีพื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสวนสาธารณะ (3) การจัดให้มีที่จอดรถยนต์สำหรับประชาชนทั่วไปในบริเวณพื้นที่ภายในระยะ 500 เมตร โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่กำหนด (4) การจัดให้มีพื้นที่รับน้ำฝนเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในแปลงที่ดินในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1 ลูกบาศก์เมตรต่อพื้นที่ดิน 50 ตารางเมตร (5) การจัดให้มีอาคารก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน การสร้างพื้นที่เชื่อมต่อการเปลี่ยนถ่ายการสัญจรของระบบรถไฟฟ้า และการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม

จากนั้น นายธีรภัทร ตังประพฤทธิ์กุล วิศวกรโยธาชำนาญการ ได้กล่าวว่า มาตรการป้องกันน้ำท่วม ประกอบด้วยมาตรการเชิงโครงสร้างและมาตรการที่ไม่ใช่เชิงโครงสร้าง สำหรับมาตรการเชิงโครงสร้าง คือ ระบบป้องกันน้ำท่วมโดยใช้ “ระบบพื้นที่บริหารจัดการน้ำ” เพื่อป้องกันน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง และระบบระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมจากฝน โดยใช้ระบบท่อความยาว 6,400 กิโลเมตร  คลองจำนวน 1,682 คลอง  สถานีสูบน้ำและประตูน้ำกว่า 762 แห่ง อุโมงค์ขนาดใหญ่จำนวน 7 แห่ง ความยาว 19 กิโลเมตร  บ่อกักเก็บน้ำรวมถึงศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ทั่วกรุงเทพมหานคร ขณะที่มาตรการที่ไม่ใช่เชิงโครงสร้างประกอบด้วยการจัดโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและให้ความรู้แก่ประชาชน รวมถึงการจัดทำบอร์ดเตือนภัยน้ำท่วมและสัญลักษณ์ที่บันทึกระดับความสูงของน้ำท่วมที่เคยเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีทีมงานช่วยเหลือด้านน้ำท่วม ทั้งนี้ โครงการสำคัญล่าสุด คือ โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบนถนนสายหลัก (the sewer pipe’s capacity improvement in the main road projects) และหลังรับฟังการบรรยาย ผู้แทนสำนักการระยายน้ำได้นำคณะนักศึกษาเยี่ยมชมอุโมงค์ระบายน้ำคลองบางซื่ออีกด้วย

 


  

ข้อเสนอแนะ
ติดตามเรา